หลายท่านชอบทางกุ้งเป็นชีวิตจิตใจ บางรายก็เคี้ยงเปลือกกุ้งไปด้วยเลย เนื่องจากไม่อยากคาบเปลือกกุ้งส่วนหางทิ้ง แต่หากเป็นเปลือกกุ้งชิ้นใหญ่ และเคี้ยงไม่ละเอียดดี อาจมีอันตรายได้ โดยช่วงเช้านี้ (17 ก.พ. 64) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Arak Wongworachat ได้โพสต์เรื่องราวเตือนท่านที่ชอบทางกุ้งทั้วตัวเคี้ยวเปลือกตรงหางกุ้งด้วย ต้องระวังอาจทำให้ติดหลอดอาหาร สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก โดยระบุข้อความว่า "แกงส้มกุ้งเป็นเหตุเปลือกกุ้งแทงติดหลอดอาหาร

เคสน่าสนใจผู้ป่วยหญิงอายุ60ปี
ในขณะรับประทานอาหารกับครอบครัว เมนูเด็ดแกงส้มกุ้ง ดอกแค ข้าวสวยร้อนๆ ที่สำคัญคือกุ้งขนาดกลางๆ ไม่ได้แกะเปลือกออก มีหัวกุ้งติดอยู่ด้วย ระหว่างรับประทานอาหารอย่างเพลิดเพลิน ถอดหัวกุ้งออกแต่ลำตัวยังติดเปลือกติดหาง ตัวแรก ตัวที่สองผ่านไปสบาย เคี้ยวได้อย่างเอร็ดอร่อย ตัวถัดไปคงเคี้ยวไม่ดี พอกลืนลงไปเหมือนมีอะไรติดคอ ตรงตำแหน่งลูกกระเดือก พยายามปั้นข้าวเป็นก้อนกลืนลงไป ยิ่งกลืนยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ดื่มน้ำตามก็ปวด กลืนน้ำลายก็ปวด อยู่เฉยๆก็ปวด ความอร่อยหายไปทันที จึงไปนั่งพักเผื่อว่าจะดีขึ้น แต่อาการกลับรุนแรงมากขึ้น จนไม่กล้ากลืนน้ำลาย ต้องบ้วนน้ำลายทิ้งแทน ญาติจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลสิชล

ผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉิน พยาบาลซักประวัติ วัดสัญญานชีพ ประเมินความเจ็บปวด ให้ระดับ 10 เต็ม 10 ถือเป็นความเจ็บปวดระดับสูงสุด จึงให้พบแพทย์เวร ส่องในลำคอไม่พบสิ่งแปลกปลอมใดๆ จึงสั่งเอกซเรย์ทั่วไปด่วนที่ลำคอและฉีดยาแก้ปวดให้ไปก่อน ให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำ แพทย์เวรตามไปดูผู้ป่วยที่ห้องเอกซเรย์ เผื่อว่าไม่เห็นอะไรจะได้ส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องไปเลย

แต่เมื่อดูจากเอกซเรย์เบื้องต้นพบว่ามีเงาทึบแสงสีขาว ๆ ตามภาพรังสีในวงกลมขนาดประมาณ 2.5 ซม. ขวางอยู่ที่หลอดอาหารส่วนบน จึงรีบนำตัวผู้ป่วยกลับห้องฉุกเฉิน ให้น้ำเกลือ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก ให้ส่งเข้าห้องผ่าตัดทันที เนื่องจากผู้ป่วยรับประทานอาหารมาเพียง 2 ชั่วโมง วิสัญญีแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจวิธีพิเศษ เพื่อไม่ให้สำลักในระหว่างดมยาสลบ เพื่อส่องกล้องไปในหลอดอาหาร

เมื่อส่องกล้องเข้าไปพบว่ามีเปลือกกุ้งสีเหลือง แทงติดอยู่ที่หลอดอาหารในแนวขวางตรงตำแหน่งหูรูด ระหว่างลำคอกับหลอดอาหาร จึงค่อย ๆ สอดใส่เครื่องมือคืบออกมาได้สำเร็จ มีการตรวจดูโดยละเอียดว่าไม่มีชิ้นส่วนอื่นตกค้าง ฉีดน้ำล้าง ให้ยาต้านเชื้อ 5 วัน หลังติดตามการรักษา หายเป็นปกติ

ถือเป็นการรักษาภาวะสิ่งแปลกปลอมในหลอดอาหารที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องระมัดระวังในทุกขั้นตอน ความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาล สถานที่ เครื่องมือแพทย์ ก็สำคัญมากๆ
เป็นบทเรียนให้กับทุกท่านที่ชอบกินกุ้งตัวโตทั้งเปลือกต้องระวังให้มาก ควรหลีกเลี่ยง"
ขอบคุณภาพ จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลสิชล

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Arak Wongworachat