วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567
SHARE

ข้อมูลไม่ตรงความจริง

โพสต์โดย ปลายหอก เมื่อ 26 กรกฏาคม 2565 - 11:10

คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

แถลงข่าว “ผลกระทบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 เวลา 10:00 น

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ

“ผลกระทบสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดหนองคาย

อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม

“โครงสร้างพื้นฐานที่ล้มเหลว และ อุตสาหกรรมที่เสื่อมถอย”

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และ กรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง

“พลเอกประยุทธ์ แก้ตัวมั่ว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

“พิชัย” ชี้ “ประยุทธ์” แม้โหวตผ่านแต่สอบตกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและพลังงานชี้แจงมั่ว จี้ ข้อมูลไม่ตรงความจริง บอร์ด PTTGC คนของตัวเองหมด แนะ จะแก้ตัวว่าฉลาดต้องแสดงความฉลาด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า แม้ผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและอีก 10 รัฐมนตรี จะผ่าน แต่เป็นการลงมติที่สวนกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ขนาดมีการเปิดโหวตโดยมีคนกว่า 5 แสนคนจากคนไทยหลายประเทศปรากฏว่า 97% โหวตไม่ไว้วางใจ แถมยังมีเรื่องแจกกล้วยพร้อมหลักฐานการแจกในไลน์ที่หลุดออกมา ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายได้ดีและมีประสิทธิภาพ สามารถเปิดเผยความบกพร่องและข้อสงสัยการทุจริตของ นายกรัฐมนตรีและอีก 10 รัฐมนตรีได้อย่างมาก โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ได้สอบตกในการชี้แจงเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องพลังงาน ทั้งนี้ผลโหวตปรากฏว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับมีคะแนนโหวตสูงสุดได้รับความไว้วางใจ มากสุดที่ 268 คะแนน นำพลเอกประยุทธ์ถึง 12 คะแนน รองลงมาเป็นนายอนุทิน ชาญวีระกุล นำพลเอกประยุทธ์ถึง 8 คะแนน ทำให้สงสัยว่า 2 คนนี้เหมาะเป็นนายกฯ มากกว่าหรือไม่ ในขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่โม้ว่าผลงานของตนเองดี กลับได้คะแนนโหวตต่ำสุดเพียง 241 คะแนนเท่านั้น และ รมต. สายประชาธิปัตย์ทั้ง 3 คนได้คะแนนในระดับต่ำ น่าจะแสดงถึงผลงานที่ย่ำแย่ย้อนแย้งกับที่นายจุรินทร์โม้ และยังมีข้อครหาในการทุจริตที่ยังชี้แจงไม่ชัดเจน ซึ่งหากเป็นแบบนี้และยังอยู่ร่วมรัฐบาล โอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งคราวหน้าจะมีน้อยมาก และอาจจะสูญพันธุ์ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะใน กทม. ก็เป็นไปได้สูง

ในเรื่องเศรษฐกิจและพลังงานที่เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์สอบตกนั้น สาเหตุมาการตอบข้อซักถามการอภิปรายที่ไม่ตรงประเด็น อธิบายสภาวะเศรษฐกิจว่าไปได้ดี ทั้งที่ประชาชนกำลังลำบากกันอย่างมาก อ้างว่าชำระหนี้ในจำนวนมากที่สุด ทั้งที่หนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 10 ล้านล้านบาทแล้ว แต่เรื่องที่ตอบได้มั่วที่สุดน่าจะเรื่องปัญหาพลังงาน ทั้งที่ตอบเองและให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว. พลังงานช่วยตอบ เพราะไม่ได้ตอบเรื่องทำไมปล่อยให้ค่าการตลาดพุ่งสูง ซ้ำเติมกับค่าการกลั่นที่แพงมาก และยังแก้ตัวมั่วเรื่องค่าไฟฟ้าที่แพงเพราะเกิดจากค่าความพร้อมที่สูงถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตเกินถึงกว่า 50% โดยอ้างว่าเป็นกำลังผลิตสำรองทั้งที่ความจริงกำลังผลิตส่วนเกิน 15% ก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งกำลังผลิตที่เกินนี้มีมาก่อนวิกฤตการณ์โควิดไม่ใช่เกิดจากโควิดตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งยังไม่การให้ใบอนุญาติผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมกันอีก สาเหตุแท้จริง เกิดมาจากการเอาใจนายทุนพลังงานที่สนิทกันพลเอกประยุทธ์ นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์และนายสุพัฒนพงษ์ยังให้ข้อมูลย้อนแย้งกันเองเรื่องปัญหาข้อพิพาทในสัมปทานขุดก๊าซในพื้นที่อ่าวไทยทำให้ปริมาณก๊าซถูกนำขึ้นมาน้อยลง ที่พลเอกประยุทธ์ปฏิเสธแต่นายสุพัฒนพงษ์กลับยอมรับ แสดงถึงการขาดความรู้ความเข้าใจของพลเอกประยุทธ์

นอกจากนี้ การตอบเรื่องการลงทุน 148,000 ล้านบาทของบริษัท PTTGC ที่นำเงินไปซื้อบริษัทต่างประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ ต้องการการลงทุนในประเทศ และเงินทุนไหลออกนี้ น่าจะผลประโยชน์ทับซ้อนแน่ เพราะมีการตอบแบบไม่ตรงความจริง โดยพลเอกประยุทธ์และนายสุพัฒนพงษ์ อ้างว่าบริษัท PTTGC ที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ. ปตท. เป็นบริษัทเอกชน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริงและ นายสุพัฒนพงษ์ ที่เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารต้องเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ทั้งที่เพราะ PTTGC มี บมจ. ปตท. ถือหุ้นอยู่ถึง 45.18% และ คณะกรรมการบริหารก็แต่งตั้งไปจากรัฐบาล มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ อดีตประธานบอร์ด บมจ. ปตท ที่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งและโยกมาเพราะอายุเกินเป็นประธานบอร์ด มีพลโทนิธิ จึงเจริญ นายทหารคนสนิทของพลเอกประยุทธ์ และ ยังมีข้าราชการกระทรวงพลังงาน และ ผู้บริหาร ปตท. เป็นกรรมการ จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและกระทรวงพลังงานนั้นคงเป็นไปไม่ได้ และโดยปกติ การลงทุนของ PTTGC จะต้องมาขออนุมัติจาก รมว. พลังงานอยู่แล้ว ดังนั้นการแก้ตัวของพลเอกประยุทธ์และนายสุพัฒนพงษ์จึงตรงข้ามกับความเป็นจริงและเป็นที่สงสัยว่าจะต้องมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงอยู่หรือไม่ถึงต้องบิดเบือนเพื่อปกปิดความจริง นอกจากนี้นายสุพัฒนพงษ์ยังไม่ได้ตอบคำถามในสภาเรื่องน้ำมันปาล์มมูลค่า 2,100 ล้านบาทของบริษัทย่อยของ PTTGC หายไป ในระหว่างที่นายสุพัฒนพงษ์ดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ PTTGC ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องคดีเหมืองทองอัคราที่เป็นจุดตายของพลเอกประยุทธ์ โดยมีหลักฐานคำแนะนำของหน่วยงานทางกฏหมายไม่แนะนำให้ทำ ที่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้เลย

นี่เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นเรื่องคาใจประชาชน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ และ 10 รัฐมนตรีใช้พวกมากลากไปเพื่อให้ รอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศต่อไปแล้ว ยิ่งอยู่นานประชาชนยิ่งลำบาก การที่พลเอกประยุทธ์พยายามแก้ตัวว่ามีเซลล์สมอง 840,000 ล้านเซลล์ ทั้งที่เคยพูดเองว่ามี 84,000 เซลล์ ซึ่งมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า ไม่ได้ทำให้ประชาชนเชื่อพลเอกประยุทธ์แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ไม่ได้แสดงความฉลาดที่จะมีเซลล์สมองถึง 10 เท่าของคนปกติได้ คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าน่าจะมี 84,000 เซลล์เท่าเดิมเพราะถ้าฉลาดจริงคงต้องไม่ยอมรับอย่างหน้าชื่นบานว่าทำปฏิวัติและจะต้องละอายใจและจะต้องดูออกแล้วว่าประเทศย่ำแย่และเสื่อมถอยขนาดไหนจากการบริหารของพลเอกประยุทธ์เองและต้องออกไปได้แล้ว

“เพื่อไทย” ชี้ “ประยุทธ์” ล้มเหลวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และ อุตสาหกรรมเสื่อมถอย เผย โครงสร้างพื้นฐานไทยอันดับ 44 จาก 63 ประเทศ อุตสาหกรรมกินบุญเก่า การลงทุนใหม่น้อยมาก

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดหนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาคอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งตรงข้ามกับที่พลเอกประยุทธ์ได้แถลงยุทธศาสตร์ 3 แกน โดยมีข้อมูลชัดเจนว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยล้มเหลวมาตลอดในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ IMD ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานไทยอยู่อันดับที่ 44 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมของไทยได้เสื่อมถอยมาก ทุกวันนึ้เหมือนกินบุญเก่า อาศัยการลงทุนในอดีตแต่การลงทุนใหม่มีน้อยมาก

โดยทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศในแต่ล่ะประเทศอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ วิกฤตโรคระบาด รวมไปถึงสงครามระหว่าง ยูเครนกับรัสเซีย

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม และในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่า การที่เรามีความเปลี่ยนแปลงจากยุค Analog มาเป็นยุค Digital นั้น ยิ่งทำให้อะไรหลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โลกเราหมุนเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น การบริหารราชการ การบริการประเทศจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมองถึงอนาคตด้วยว่า อะไรกำลังจะมา อะไรกำลังจะเกิดขึ้น เพื่อที่เวลามันมาถึง เราจะได้เตรียมความพร้อม ที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที

วันนี้มีหลายๆประเทศที่ปรับตัวไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น ศรีลังกา ตอนนี้ต้องถือว่า ล้มละลาย และผู้นำประเทศต้องลี้ภัย เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ ที่เราควรจะพึงระวัง

เศรษฐกิจโลก ขึ้นกับ ต้นทุน น้ำมัน พลังงาน อาหาร ประเทศรัสเซีย จัดอยู่ที่ลำดับ 3 ในการผลิตน้ำมัน ประมาณ 10% ของน้ำมันในโลก แก็ซธรรมชาติก็ยังอยู่ในลำดับต้นๆ รวมไปถึง ข้าวสาลี สิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเข้าใจ และปรับตัวให้ทันต่อภาวะต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

ประเทศไทยเอง เป็นประเทศที่พึ่งรายได้หลัก 2 อย่าง 1 ก็คือรายได้จากการท่องเที่ยว 2 คือ ภาคอุตสาหกรรม วันนี้เราต้องรีบอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ให้สามารถเข้าออกและเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนกลับมาให้เกิดสภาพคล่อง ให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME แต่วันนี้กฎกติกาและนโยบายหลายอย่าง เช่น คนล่ะครึ่ง ที่ควรจะต้องช่วยส่งเสริมการขายแต่กลับไปเพิ่มค่าใช้จ่าย เก็บภาษีย้อนหลังกับผู้ประกอบการรายย่อย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็เอื้อรายใหญ่ ไม่ใช่รายเล็ก รัฐบาลตั้งกำแพงและค่าใช้จ่าย หลายอย่างให้ทั้งกับคนในประเทศและต่างประเทศ

สิ่งเหล่านี้ล้วนสวนทางกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก คนไทยจะอยู่ลำบากมากขึ้นหากรัฐบาลยังบริการงานแบบนี้ต่อไป

อนุสรณ์ ชี้ รัฐบาลถนัดลับลวงพราง พวกเดียวกันเองก็ไม่เว้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง

ควันหลงและผลกระทบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจทำรัฐประหารด้วยยุทธวิธีลับลวงพราง ผ่านไป 8 ปีเข้าสู่โหมดสืบทอดอำนาจเพื่ออยู่ต่อให้นานที่สุด ใครจะคิดว่ายุทธวิธีลับลวงพราง ที่เคยใช้กับฝ่ายตรงข้ามจะหันกลับมาใช้กับเครือข่ายนั่งร้านสืบทอดอำนาจพวกเดียวกันเอง ก่อนเข้าสู่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจลับลวงพรางให้พรรคเล็กดีใจทำทีเหมือนยอมพลิกลิ้นจากสูตรหาร 100 ไปเป็นสูตรหาร 500 แต่หลังจากสมประโยชน์ยกมือไว้วางใจส่งมอบงานกันเรียบร้อยก็เตรียมพลิกลิ้นอีกรอบโดยการจะหันหลังกลับ 180 องศากลับไปใช้สูตรหาร 100 อีกรอบหรืออาจไปไกลกว่านั้นโดยการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

เฉพาะสูตรคำนวณ การได้มาซึ่งส.ส.ยังพลิกไปพลิกมา มั่วขนาดนี้ แล้วเรื่องอื่นจะมั่วขนาดไหน รัฐบาลมีประสบการณ์และชำนาญเรื่องแจกกล้วย แต่เรื่องตอบให้ตรงคำถามยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้ ประชาชนเห็นชัดว่ามีหลายคำถามที่รัฐบาลไม่ได้ตอบหรือตอบไม่ได้ กว่าจะรอดต้องวิ่งเต้นต่อรองทุกเสียง เจรจาทุกวิธี หลังโหวตต้องตามล้างตามเช็ดกันมั่วไปหมด ไม่รู้ว่าคนโหวตคว่ำรัฐมนตรี จะได้เก้าอี้ปลอบใจหรือโดนขับไล่พ้นพรรค เชื่อว่าเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่ถึง 8 เดือน รัฐบาลจะออกลูกมั่วเพื่อสะสมความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีก

“รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คำนึงถึงความมั่นคงของรัฐบาลก่อนความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ แม้จะต้องแก้กติกากลับไปกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอีกกี่รอบก็ยอม” นายอนุสรณ์ กล่าว



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com