วันอังคารที่ 16 เมษายน 2567
TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ
SHARE

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

โพสต์โดย พลอยมึน Jarm เมื่อ 28 พฤษภาคม 2561 - 11:54

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

          ข่าวใหญ่ในวงการโทรคมนาคมเมื่อสองสัปดาห์ก่อนคงไม่มีอะไรเด่นและดังไปกว่าค่าย DTAC ได้เซ็นต์สัญญากับ TOT ในคลื่นใหม่ 2300MHz ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับทั้ง TOT และ DTAC ในความพยายามที่จบดีลนี้มาให้ได้ แต่เดี๋ยวก่อน... ดูข่าวดูละครแล้วต้องมาย้อนดูตัว เอ้ย ไม่ใช่ ต้องมาย้อนดูข้อเท็จจริง และรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญของดีลพิเศษนี้ว่า มันใช่หรอ แน่แล้วหรอว่ามาถูกทาง มันถูกที่ ถูกเวลาสำหรับ DTAC หรือเปล่าที่จะใช้คลื่นนี้ ลูกค้า DTAC อย่างเราจะมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมได้แน่หรอ เรามาดูกันเป็นเรื่องๆไปเลย

         ดีลพิเศษนี้ ทาง TOT เป็นเจ้าของคลื่น ทำสัญญาเช่าเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท (บริษัทลูกของ DTAC) แล้วนำมาปล่อยให้ TriNet หรือ DTN เช่าโรมมิ่งคลื่น 2300 ในรูปแบบ data เท่านั้น (non-voice) จนถึงปี 2568 นั่นหมายความว่า DTAC จ่ายค่าเช่าโรมมิ่งให้ทาง TOT ปีละ 4510 ล้านบาทต่อปีจนครบสัญญา แลกกับการใช้ความจุคลื่น 60% จากความจุทั้งหมด 60MHz ข้อตกลงนี้ลูกค้า DTAC สามารถโรมมิ่งสัญญาณไปเกาะคลื่น 2300 ได้เฉพาะ 4G เท่านั้น ดังนั้น DTAC จำเป็นต้องมีคลื่นอื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานด้านเสียง (voice) เช่น 2100/1800 หรือ 900MHz ไม่สามารถนำคลื่น 2300 มาเป็นคลื่นหลักในการให้บริการทั่วประเทศเพราะตามข้อตกลง ไม่อนุญาตให้ใช้ได้ทั้งเสียงและข้อมูลเหมือนเช่นความถี่อื่นๆ (คลื่น 2300 ไม่สามารถให้บริการ 2G/3G) ยกเว้นว่าเครื่องลูกข่ายรองรับ VoLTE หรือ Voice Over LTE ซึ่งคุณลักษณะข้อนี้ไม่ใช่คุณสมบัติพื้นฐานที่มือถือทุกเครื่องจะพึงมีให้ใช้งาน ในกรณีเครื่องที่ไม่มี VoLTE เวลาสายเข้า หรือโทรออก มือถือจะต้องหล่นไปเกาะ 3G หรือ 2G ในคลื่นอื่น (สลับคลื่นเพื่อโทรออก) มีโอกาสสูงที่สายจะหลุดหากไม่มีสถานีฐานที่ครอบคลุมและแน่นพอ

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

         ประการต่อมา คลื่น 2300 ไม่เป็นที่นิยมในสากลโลก โดยข้อมูลจาก website DTAC ระบุชัดว่า คลื่น TDD คาดว่าจะมีการใช้งานทั่วโลกเพียง 22% ในปี 2563 โดยที่เหลือทั้งหมด จะเป็นการใช้งานแบบ FDD นั่นหมายความว่า เทคโนโลยีและคลื่นที่ DTAC เพิ่งทำสัญญาไปกับ TOT นั้นไม่เป็นที่นิยมใช้กัน เมื่อไม่ค่อยมีประเทศไหนใช้ ตัวเครื่องลูกข่ายหรือเครื่องมือถือที่จะนำมาใช้งานก็ย่อมหายาก หรือมีน้อยตามไปด้วย การลงทุนในส่วนนี้นอกจากเรื่องการขยายโครงข่ายแล้ว  DTAC ยังคงต้องพิจารณาเรื่องการสนับสนุนค่าเครื่องหรืออุดหนุนค่าเครื่องในการทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าสามารถมีอุปกรณ์ที่รองรับใช้งานได้กับคลื่น 2300 นี้ โดยก่อนหน้านี้ DTAC ได้จัดจำหน่ายมือถือที่รองรับคลื่น 850 และ 2100MHz เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงลูกค้าปัจจุบันเพียงไม่กี่รายที่มีโทรศัพท์ที่รองรับคลื่นใหม่คลื่นนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นเรือธงหรือมีราคาสูง (highend) ไม่ก็เป็นมือถือสัญชาติจีนที่รองรับ  มือถือที่เราๆใช้อยู่ มีโอกาสสูงที่จะใช้คลื่น TDD นี้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

         ส่วนสำคัญสุด หรือเป็นจุดพีค ของแกนกลางและสภาพปัญหา ที่เป็นที่มาของเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้คงหนีไม่พ้นคุณสมบัติของคลื่น 2300 หรือ 2.3GHz เราคงจะคุ้นๆตัวเลขว่า 2.3GHz หรือ 2.4GHz มันคล้ายๆกับอะไร ใช่แล้วครับ คลื่น 2300 ความถี่ที่ใช้งานนั้นใกล้เคียงกับ WiFi 2.4GHz ที่ทุกบ้านมีใช้กันอยู่ ดังนั้น รัศมีการทำงานของความถี่ราวๆ 2300-2400MHz นี้เป็นคลื่นความถี่สูง มีรัศมีทำการที่แคบมากๆ เมื่อรัศมีทำการมีน้อย ไปได้ไม่ไกลเท่าคลื่นอื่นๆ (แม้เทียบคลื่นสูง 1800/2100ด้วยกันก็ตาม) โดยคุณสมบัติหลักของคลื่นนี้ เน้นการรองรับ capacity หรือรองรับการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ แต่ก็จะใช้งานได้เพียงแค่ระยะสั้นๆภายใน 1 กิโลเมตรเท่านั้น (ถ้าเป็นคลื่นอื่นรองรับถึง 1.7 ถึง 2กิโลเมตร) เมื่อหันมามองย้อนถึงสถานีฐานที่DTAC มีอยู่ เราจะเห็นได้ว่า DTAC มีอุปกรณ์หรือสถานีฐานน้อยกว่ารายอื่นๆหลายเท่า ประกอบกับการที่จะต้องหมดสัมปทานคลื่นต่ำที่เป็นตัวชูโรงเรื่องความครอบคลุมด้วยแล้ว มันเป็นการย้อนแยงเป็นอย่างมาก ที่จะเอาคลื่น 2300 ซึ่งระยะทำการน้อยสุด มาให้บริการเป็นหลักถึง 60MHz (ความจุ) ลองจินตนาการว่า DTAC จะต้องอัด หรือลงเสามากกว่า AIS หรือ TRUE แค่ไหน ต้องใช้ระยะเวลานานเพียงใด ถึงจะสามารถนำคลื่น TDD นี้มาใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาไร้ข้อจำกัด ยิ่งในพื้นที่ห่างไกล หรือต่างจังหวัดด้วยแล้ว เราลืมคลื่นนี้ไปได้เลย ว่าจะไม่ได้เห็นเสาหรือสถานีฐาน 2300 เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะต้องใช้การลงทุนที่สูงมากถึงจะสร้าง Coverage หรือความครอบคลุมของคลื่นนี้ให้คลุมได้ทั้งประเทศด้วยเหตุที่คลื่น 2300 มีระยะทำการเพียงสั้นๆ

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

        ปัญหาของ DTAC ไม่ใช่เรื่อง Capacity ที่จะรองรับลูกค้าให้มากๆเหมือน AIS หรือ TRUE แต่ปัญหาหลักและปัญหาเฉพาะหน้าของ DTAC ในตอนนี้คือการขาดแคลนสถานีฐาน หรือพูดง่ายๆ ขาดแคลนเสาสัญญาณโทรศัพท์ ที่จะต้องวางระบบให้ถี่ที่สุดเพราะต้องทำให้คลื่นต่างๆ มีความครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่ใช้การได้แค่จุดใดจุดหนึ่งเป็นหย่อมๆ การที่ DTAC ตัดสินใจนำคลื่น 2300 มาให้บริการ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แน่นอนว่าหลังจากเปิดสัญญาณ 2300 ให้ใช้งานได้แล้ว (เฉพาะกรุงเทพฯ) ลูกค้าอย่างเราจะพบความกระท่อนกระแท่นสลับคลื่นกันหัวหมุนและอาจจะเจอสภาพ NO-SERVICE ค้นหาสัญญาณเป็นช่วงๆ เพราะระยะทำการของคลื่น 2100 ที่ DTAC นำมาใช้ผนวกกับคลื่น 2300 นั้นความครอบคลุมหรือรัศมีระยะทำการมีความแตกต่างกัน แล้วอุปกรณ์ที่ใช้หากไม่รองรับการ CA หรือ รวมคลื่น ก็จะทำให้มือถือจับคลื่นใดคลื่นหนึ่งมาให้บริการ เมื่อสัญญาณไม่แน่นพอ ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ทั้งเรื่องความเร็วที่จะเดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า เรื่อง Latency ที่เป็นข้อด้อยของ TDD LTE มีการตอบสนองที่ช้ากว่า 4G แบบ FDD และที่สำคัญเรื่องการ handover ระหว่าง cellsite ไปมาระหว่าง FDD และ TDD หรือ TDD ด้วยกันเอง เพราะการใช้งานไม่สามารถจะจับคลื่นใดคลื่นหนึ่งอยู่ตลอด ก่อให้เกิดปัญหาด้านความไม่มีเสถียรภาพในการใช้งาน

         ปัญหาของ DTAC ไม่ได้มีแค่เรื่องสถานีฐานที่ไม่ครอบคลุมอย่างเดียว ยังมีเรื่องคลื่นต่างๆหลายคลื่น ที่ปัจจุบันเป็นหลอดเลือดหลักของ DTAC ที่ใช้หล่อเลี้ยงและทำให้เราทุกคนใช้งานอยู่ได้ กำลังจะสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 850MHz ที่สิ้นสุดแน่นอนในเดือนกันยายนนี้ ความจุ 10MHz ใช้งานในระบบ 3G สร้างความครอบคลุมเพราะเป็นคลื่นต่ำมีอำนาจทะลุทะลวงสูงและไปได้ไกล และคลื่นสูง 1800MHz ความจุถึง 25MHz ใช้งาน 4G และ 2G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคลื่น 1800MHz นี้กำลังมีประเด็นที่จะนำกลับมาประมูลใหม่ด้วยราคาเริ่มต้นที่สูงมาก และใช้กฎ N-1 ทำให้ผู้เข้าแข่งขัน 3 รายต้องกดราคาสู้กันเพื่อให้ชนะเหลือใบอนุญาต 1800MHz เพียงแค่ 2 ใบเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าคู่แข่งก็คงจะกดราคาสู้หมดหน้าตัก ทำให้ต้นทุนใบอนุญาตมีราคาสูง DTAC จะสู้ไหวหรือไม่เพราะมีต้นทุนค่าเช่าคลื่น 2300 ที่ต้องจ่ายให้ TOT ทุกปีรอชำระถึง 4510 ล้านเป็นต้นทุนการประกอบการรออยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ยังไม่รวมถึงต้นทุนการลงทุนด้านเครือข่ายที่มีแต่คลื่นสูง ระยะทำการไม่ไกล ต้องติดตั้งอุปกรณ์และสถานีฐานเพิ่มแบบถี่ๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้คลื่นที่มีอยู่ (2100/2300) สามารถนำไปใช้งานได้จริง

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

        ดีลพิเศษนี้ ดูเผินๆก็น่าตื่นเต้นที่เมืองไทยจะมีคลื่นใหม่มาให้ลองใช้งาน แต่มันผิดที่ผิดทาง เพราะมันสมควรไปอยู่กับผู้ให้บริการที่มีสถานีฐานเดิมที่ครอบคลุมอยู่แล้วทั่วประเทศ การที่ต้องตกไปอยู่กับผู้ให้บริการที่มีข้อด้อยในเรื่องสถานีฐานที่มีไม่แน่นพอ รังแต่จะทำให้ปัญหาเรื่องความครอบคลุมกลายเป็นอุปสรรคหรืองานชิ้นใหญ่ ที่ต้องใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งเงินลงทุนมหาศาลเพื่อเนรมิตรความพร้อมให้เท่าและทันกับรายใหญ่อีก 2 ราย นับเป็นความท้าทายและความเสี่ยงบนเส้นด้ายที่ DTAC นำดวงชะตาเข้าไปแขวนไว้อีกคำรบนึง

TDD 2300 น่าตื่นเต้นหรือน่าตกใจ

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com