หลังจากที่ภาครัฐ ได้มีการออกมาตรการผ่อนปรน เกี่ยวกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้ประชาชนหลายภาคส่วน กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แม้จะมีการรายงานตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง แต่หลายคนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานมานั้น ใช่ตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่

ล่าสุด(9 ก.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า เมื่อวันที่ วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงยอดติดเชื้อโควิด-19 ว่า เป็นไปตามยอดติดเชื้อจริงหรือไม่
และแผนการรองรับระลอก 5 ที่เกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ กระทรวงได้บอกให้ประชาชนระวังอย่างไร และมียาอะไรที่บรรเทาได้ เพราะขณะนี้พบนักเรียนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงคนต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยมีตัวเลขการติดเชื้ออย่างไร

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ตอบกระทู้ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการตรวจ 2 รูปแบบ คือ RT-PCR ที่กรอกข้อมูลเข้าระบบ และ ATK โดยยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลตัวเลขอย่างละเอียด แต่จะรายงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่กรมควบคุมโรค
โดยหากนับรวมทั้งระบบ ที่คิดจากการตรวจ RT-PCR และ ATK ซึ่งรวมไปถึงเจอจ่ายจบ และการรักษาตัวที่บ้าน ตัวเลขเหล่านี้อยู่ในระบบการเบิกจ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการขอรับยา และเงินสนับสนุน ดังนั้นตัวเลขที่ สปสช.รายงานจึงทำให้มียอดติดเชื้อวันละประมาณ 2-3 หมื่นราย

นายสาธิตยืนยันว่า การติดเชื้อใน กทม. กรมควบคุมโรค ทำงานร่วมกับศูนย์อนามัย กทม. และประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ การปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อจะทำตามมาตรการที่กระทรวงวางไว้ ส่วนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในไทย
เป็นพัฒนาการการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะครอบเชื้อเก่าไปเรื่อย ๆ ขณะนี้กินเนื้อที่ไป 70-80 % แต่การติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ส่วนอัตราการติดเชื้อของคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามา ไม่มากเท่าคนไทยติดในประเทศ


ขอบคุณ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว และ สํานักงานสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข