วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568
SHARE

ไม่เคยลืม

โพสต์โดย ดินสอสีหม่น เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 - 11:18

วันที่ 13 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบการจากไปของราชินีเพลงลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ที่แม้วันเวลาจะผ่านไปครบ 3 ทศวรรษ แต่ราชินีเพลงลูกทุ่งผู้นี้ ก็อยู่ในความจำของใครหลายคน โดยเฉพาะมิตรรักแฟนเพลง ต่างต้องจดจำน้ำเสียง และลีลาการขับกล่อมได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีแฟน ๆ รุ่นใหม่ ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานพูดถึงและยกเป็นแบบอย่างในการร้องเพลงเสมอ ๆ

สำหรับประวัติ แม่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ถือที่สุดของชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งที่ยิ่งกว่านิยาย จากนักร้องบ้านนอกในไร่อ้อย สู่ราชินีลูกทุ่งขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ แม้ผ่านไป 30 ปี แต่บทเพลง น้ำเสียง และลีลา ยังคงตราตรึงในหัวใจคนรักเสียงลูกทุ่งตลอดมา 

เรามาย้อนความทรงจำ เรื่องราวต่างๆ สำหรับคนรัก พุ่มพวง ดวงจันทร์ กันดีกว่าค่ะ

รำพึง จิตรหาญ คือชื่อเดิมของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แม่ผึ้ง หรือ พุ่มพวง ชื่อในเวลาต่อมา หลังเข้าสู่เส้นทางนักร้องเธอเป็นบุตรคนที่ 5 จาก พี่น้องทั้งหมด 12 คน เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท แต่เดิมแม่ผึ้ง มีชื่อในวงการคือ น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย , น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ต่อมาครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น คือ ครูมนต์เมืองเหนือ เป็นคนตั้งชื่อใหม่ให้ว่า "พุ่มพวง ดวงจันทร์"

เมื่อพุ่มพวง อายุได้ 15 ปี พ่อได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องและนักเเต่งเพลงชื่อดังในยุคนั้น สิ่งที่น่าแปลกและผู้คนทั้งโลกตะลึง เมื่อทราบว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธออ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่กลับจำเนื้อเพลง บทหนังและบทละคร ได้อย่างแม่นยำ มีความใสซื่อ จริงใจ และเป็นนักร้องที่สามารถเอนเตอร์เทนแฟนเพลงได้ดีเยี่ยม เธอจำได้อย่างไร

บทเพลงแรกที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องและได้บันทึกอัดลงแผ่นเสียงเป็นชุดแรก คือ เพลง "แก้วรอพี่" เมื่อ ปี 2521 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากเพลง "อกสาวเหนือสะอื้น"

ปี 2525 เป็นปีที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มมีชื่อเสียง โดยหลายคนคุ้นหูกับเพลงดังที่เป็นอมตะมาถึงปัจจุบัน อย่างสาวนาสั่งแฟน , นัดพบหน้าอำเภอ , อื้อฮือหล่อจัง , กระแซะเข้ามาซิ , ดาวเรืองดาวโรย , คนดังลืมหลังควายเป็นต้น

\r\n

จากนั้นปี 2526 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยเริ่มเป็นนักแสดงเล่นคู่กับ ยอดรัก สลักใจ ในเรื่อง "สงครามเพลง" ซึ่งกำกับโดย คุณฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ “ดาวเรืองราวโรย” ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง ซึ่งครูลพ บุรีรัตน์ ถือเป็นครูเพลงคู่บุญของคุณพุ่มพวง ที่เข้าใจและใช้ความสามารถในการเรียนรู้เธอมากที่สุด หลังทราบคุณพุ่มพวง อ่านหนังสือไม่ได้ แต่มีความจำและสมองดีเป็นเลิศ ยากจะหาตัวจับได้

นอกจากนี้ เคยมีกระแสข่าว พุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยคบหาดูใจกับ ธีระพล แสนสุข-สามีคนแรก ที่เป็นนักแซกโซโฟนของวงดนตรีไวพจน์ จากนั้นก็แยกทางกัน

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยตั้งวงดนตรีของตนเอง โดยการสนับสนุนของ คารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ มนต์ เมืองเหนือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จึงก็มาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป - แผ่นเสียง และกลับมาประสบความสำเร็จมากขึ้น เมื่อ ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งวงร่วมกับ เสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง 

ปี 2527 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ร่วมแสดงภาพยนต์กับ ไกรสร แสงอนันต์ หรือ ไกรสร ลีละเมฆินทร์  ก่อนคบหาและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์ หรือ น้องเพชร ที่ต่อมาก็ก้าวสู่วงการนักร้องลูกทุ่ง ตามรอยเท้าของเธอ

อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ อื้อฮือ หล่อจัง"โด่งดังมากในปี 2528 กับภาพลักษณ์ลูกทุ่งสมัยใหม่ แหวกตลาดเพลงลูกทุ่งไทย และมีเพลงดังมากมาย อย่าง กระแซะเข้ามาซิ เป็นเพลงขาย สามารถทำยอดขายได้ถึง 1.5 ล้านตลับ ซึ่งขณะนั้นราคาตลับละ 70 บาท คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 105 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

จากนั้น ปี 2534 พุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มป่วยด้วยโรคเอสแอลอี หรือ โรคแพ้ภูมิตนเอง ที่ทุกคนต่างสงสัยว่าโรคอะไรและมาจากสาเหตุใด และปัจจุบันผู้คนยังเรียกโรคเอสแอลอี ว่าโรคพุ่มพวง ไกรสร สามีเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ พุ่มพวง และยังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย

ปี 2534 ถือเป็นเกียรติสูงสุดอีกครั้งในชีวิต พุ่มพวง ดวงจันทร์ เพราะเธอได้เป็นผู้ขับร้องเพลง "ส้มตำ" เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุ่มพวง เป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแองเจลิส ปี 2533 - 34 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ

วันที่ 13 มี.ค. 2535 มีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีปัญหารักร้าวกับไกรสร (สามี) และอาการป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล ต่อมา วันที่ 20 มี.ค. 2535 พุ่มพวง ดวงจันทร์ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน จ.จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่า เธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามไปถึงไต จากนั้น เวลา 20.55 น. ของคืนวันที่ 13 มิ.ย. 2535 พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากครอบครัว แฟนเพลง และพวกเราคนไทยไปอย่างสงบ ขณะที่เธอมีอายุเพียง 31 ปี

วันที่ 25 มิ.ย. 2535 เป็นวันที่มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่ง โดยงานจัดขึ้นที่วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี มีประชาชนมาร่วมส่งราชินีลูกทุ่งนับแสนคน

แม้ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะจากไป แต่แฟนเพลงยังคงคิดถึงเธอ บทเพลงของเธอยังคงขับขานผ่านรายการวิทยุทั้งภาพเอฟเอ็มและเอเอ็มอยู่เสมอ มีคนที่รักเธอได้พยายามรวบรวมชื่อเพลง ผลงานของเธอไว้ ดังข้อมูลแจ้งว่าบทเพลงที่ผึ้งร้องไว้มีมากกว่า 500 เพลง ยังไม่นับรวมสมัยเริ่มเข้าวงการช่วงแรก ๆ อีกราว 300-400 เพลง นั่นหมายความว่านักร้องสาวบ้านนอกคนนี้ เธอร้องเพลงไว้ราว ๆ 1,000 เพลง

หลังจาก พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เสียชีวิตลง แฟนเพลงรวมถึงศิลปินอื่นๆ ที่นับถือ แม่ผึ้ง และครอบครัวได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งเป็นตัวแทนของเธอ ปัจจุบันมีหุ่นรูปเหมือนของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ อยู่ 7 หุ่น โดยตั้งอยู่ที่วัดทับกระดานจำนวน 6 หุ่น และอีก 1 หุ่นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ

เรื่องราวของแม่ผึ้ง พุ่มพวง ไม่ได้มีแค่เรื่องร้องเพลงเท่านั้น แฟนเพลง และบรรดาคนรักการเสี่ยงโชคเสี่ยงดวง ก็มักเดินทางมาที่วัดทับกระดาน เพื่อขอเลขเด็ด หลายคนที่โชคดีก็กลับมาแก้บนด้วยของสวยๆ งามๆ เช่น เสื้อผ้ารองเท้า โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นต้น

แม้ แม่ผึ้ง พุ่มพวง จะไม่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากอายุไม่ถึงเกณฑ์ แต่เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2552 กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือรำพึง จิตรหาญ เป็น ปริยศิลปิน ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน

วันที่ 13 มิ.ย. ของทุก ๆ ปี สมาชิกครอบครัวจิตหาญ สามีและลูกชายคือน้องเพชร ทายาทของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะพร้อมใจกันจัดงานรำลึกการจากไปของเธอ ซึ่งในแต่ละปีนอกจากจะมีการทำบุญ และคอนเสิร์ตของบรรดาศิลปินที่รักและเคารพพุ่มพวงมาร่วมงานแล้ว ยังมีแฟนคลับที่เหนียวแน่นมาร่วมงานด้วยทุกปี ซึ่งวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ปีนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 30 ปี ที่ "แม่ผึ้ง" พุ่มพวง ดวงจัทร์ ราชินีลูกทุ่ง ได้จากโลกนี้ไป เชื่อว่าแฟนเพลงจะยังคงรักและคิดถึงเธอตลอดมาและตลอดไป

สำหรับพิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล มีขึ้นในช่วงเช้าที่ผ่านมา (วันที่ 13 มิ.ย.นี้ ) เช่นเคย ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จะมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ สวดมาติกา บังสุกุล ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์กว่า 100 รูป รวมทั้ง การมอบทุนการศึกษาของพุ่มพวง ให้กับเด็กนักเรียนที่เรียนดี และทอดผ้าป่าสามัคคีเหมือนเช่นทุกปีที่ได้ปฎิบัติสืบทอดผ่านมาเพื่อทำบุญให้กับเธอ

นอกจากที่วัดทับกระดาน ในปี 2565 น้องเพชร พุ่มพวง ลูกชาย และ นายไกรสร ยังจัดทำบุญครบรอบ 30 ปี การเสียชีวิตของ พุ่มพวง ที่วัดภาษี เอกมัยซอย 23 กรุงเทพฯ สามี ซึ่งปีนี้จะมีการจัดพิธีแบบเรียบง่าย เริ่มด้วยพิธีบวงสรวงในเวลา 09.09 น. จากนั้น เวลา 11.00 น. เป็นพิธีถวายภัตตาหารเพล แต่ไม่มีคอนเสิร์ตเหมือนทุกปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  

 

ขอบคุณ คมชัดลึก และ พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com