ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมทั้งประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กับการเสียชีวิตปริศนาของ แตงโม นิดา ผ่านไป 3 เดือนกว่า แต่คดีก็ยังไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน ยังมีข้อสงสัย เงื่อนงำอีกหลายอย่าง ล่าสุด แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ออกมาตอบทุกข้อสงสัยตามหลักวิทยาศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคดี แตงโม พูดคุยกับพิธีกรดัง เรโด้ นวัตกร ในรายการ THAIRATH TALK
โดย หมอพรทิพย์ ได้พูดถึงคดี แตงโม ว่า "จริงๆ แล้วคดีน้องแตงโม ก็เป็นคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็เฝ้าดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคดีนี้เริ่มต้นแปลกๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เขาเป็นคนดัง ผู้คนที่ไปในเรือกับเขา ทำไมไม่อยู่หาเขาเลยสักคน ตามมาด้วยทำไมตำรวจไม่เก็บหลักฐานของคนบนเรือ และไม่เก็บหลักฐานที่เรือ
เราตามห่างๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตอนที่คุณแม่เขาถามหา ซึ่งทั้งหมดนี้เราเรียกว่าธรรมจัดสรรนะคะ คดีนี้มีคนตามเยอะมากและไม่เชื่อในสิ่งที่เป็นข้อมูล พอคุณแม่เขาถามหา คดีนี้เลยกลายเป็นจุดสนใจว่าเราจะคลี่คลายได้ไหม การไปผ่าศพทำไมเราเจอประเด็น แต่เราพูดไม่ได้เพราะบทบาทครั้งนี้เราไม่ใช่หมอนิติเวช เราเป็นผู้สังเกตการณ์และเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พูดได้เลยนี่เป็นครั้งแรกที่ทำความดีไม่ได้ ติดด้วยกรอบว่า คุณจะผิดจริยธรรม
เมื่อก่อนนะ เราก็พูดได้เพื่อให้เขาเป็นประเด็นเอาไปตาม แต่นี่พูดอ้อมๆ เขาก็ไม่เข้าใจ จนกระทั่งพอตำรวจมาสรุปคดี มีสื่อมาสัมภาษณ์ คนก็เลยเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเราถึงพูดเรื่องแผลก้างปลา เพราะนั่นคือจุดตกซึ่งจุดตกนี่แหละคือวิทยาศาสตร์ที่จะคัดง้างคำให้การที่ไม่เป็นไปตามความจริง แต่มันก็อาจจะไม่ทัน
และก็มีการเปลี่ยนแปลง มีคลิป มีบังแจ็ค อะไรอีกมากมาย แต่อะไรก็ไม่เท่าคุณแม่ของน้องแตงโมเปลี่ยนใจ นี่เป็นคดีแปลกที่ญาติผู้ตายไม่ได้อยู่ข้างความยุติธรรม เพราะว่าถ้าฟังจากคำพูด ทั้งตัวคุณแม่และทนายอาจจะมีการชี้นำหน่อย แต่ตอนนี้มีคำพูดของคุณแม่ ทำให้เรารู้แล้วว่า ลึกๆ ยังติดใจสาเหตุการตาย วันนี้จะพูดว่า ธรรมจัดสรร หรืออีกส่วนก็คือ พลังของน้องแตงโม เพราะคนเดียวเท่านั้นที่จะทวงความเป็นธรรมให้น้องแตงโมได้คือคุณแม่เท่านั้นที่มีสิทธิ์ ไม่ใช่ทนาย"
หลังจากแตงโมตกเรือ ตามคำกล่าวอ้างเพื่อนบนเรือกลับบ้านเลย ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์อธิบายข้อสงสัยนี้อย่างไร?
หมอพรทิพย์ : เนื่องจากเรายังไม่พบศพ ต่อมาเราพบศพ ซึ่งเราพบว่าแตงโมมีแผล และเราก็รู้ว่าแผลนี้เกิดขึ้นก่อนหรือตกเรือ 5 คนต้องถูกตรวจทั้งหมด 1. ตรวจแอลกอฮอล์ 2. ตรวจบาดแผล 3. ตรวจคราบเลือดร่องรอยทั้งหลาย นี่คือหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องเอามาใช้ อีกส่วนคือการตรวจเรือ เพราะเรือเป็นสถานที่เกิดเหตุ เอาจริงๆ ต้องตรวจมากกว่านั้นอีกว่า ตั้งแต่ลงเรือมา เรือไปไหนมาบ้าง สถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถือเป็นสถานที่เกิดเหตุค่ะ แต่เราก็ไม่ได้ทำ
หลังจากนั้นไม่มีการตรวจสอบเรือ ไม่มีการตรวจทุกอย่างที่คุณหมอกล่าวมาภายใน 24 ชั่วโมง?
หมอพรทิพย์ : การตรวจแอลกอฮอล์ต้องตรวจทุกคนบนเรือที่ไปมาด้วยกัน ต้องตรวจพร้อมกันหมด มันจะได้บอกว่าใครเมามากเมาน้อย พอไม่ตรวจ กลายเป็นผู้ตายกลายเป็นคนแบกคนเดียว เพราะว่าปริมาณแอลกอฮอล์สูง ขณะเดียวกันทุกคนบนเรือไม่ถูกตรวจเลยแถมอ้างนู่นอ้างนี่ ถ้าต่อไปในการทำงานในคดีอื่น มันจะกลายเป็นต้นแบบ แต่จริงๆ เรารู้อยู่แล้วทำไมเขาถึงไม่ทำ
เขาบอกว่าหวงผม หลักนิติวิทยาศาสตร์อธิบายอย่างไร?
หมอพรทิพย์ : ความจริงแล้วไม่ได้นะที่ไม่ให้ตรวจ แต่ข้ออ้างของตำรวจก็แปลกๆ นั่นแหละแล้วสุดท้ายเขาก็ไปโกนผม เราสามารถตรวจได้ทุกขนทั่วร่างกาย แต่เคสนี้ คนที่ถือกฎหมาย กลับอ้างกฎหมายว่าไม่มีกฎหมายบังคับ แต่โดยปกติโดยระบบ เราจะเห็นว่าคนที่ถือกฎหมาย มักจะไปบังคับเอาคนที่สู้ไม่ได้ คนที่ไม่มีเงินไม่มีความรู้
รอยขีดข่วนต่างๆ ต้องตรวจทั้งหมดใช่ไหม?
หมอพรทิพย์ : ใช่ค่ะ ซึ่งเขาก็มีการส่งไปตรวจนะ แต่หมอได้ยินในคำพูดของคุณหมอผู้ตรวจกล่าวว่า แผลไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ อันนี้หมองงนะ เพราะว่าบาดแผลมันบอกแค่ว่าเจอแผลอะไรตรงไหน แต่นี่คุณกล้าสรุปเชียวเหรอว่า นี่เป็นแผลไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ อันนี้น่าห่วงนะกับการให้ความเห็นแบบนั้น เพราะแนวโน้มที่พนักงานสอบสวนจะเอียงไปทางนี้อยู่แล้ว กระดุมเม็ดแรกมันผิดอยู่แล้ว มันก็จะติดตัวที่สองสาม ตามไปเรื่อย เห็นแล้วรู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่อย่างนั้น
เรือที่เป็นปัญหา มันคือเรือสองลำ หรือเรือลำเดียว?
หมอพรทิพย์ : เรื่องนี้ไม่มีหลักนิติวิทยาศาสตร์เลยค่ะถ้าทุกอย่างถูกเก็บตามมาตรฐาน เรือมันมีลำเดียวก็คือลำเดียว แต่การที่มันไม่ได้อยู่ในระบบที่รัดกุม เรือจึงอาจมีสองลำ จะมี 5 ลำก็ได้ ก็เอาเรือไปเก็บในอู่เรือแล้วเป็นเรือที่เกิดคดี ทุกคนก็อยากจะทำลายหลักฐาน เพราะไม่อยากให้เป็นเรื่อง จะเรือกี่ลำ ถ้าอยู่ในระบบ จะไม่เป็นปัญหาเลยค่ะ
การเข้าไปดูหลักฐาน จนทำให้อาจารย์โดนกระแสโจมตีขึ้นมา อาจารย์เจ็บปวดไหม?
หมอพรทิพย์ : ไม่ (ตอบทันที) ไม่ใช่ว่าด้าน แต่มันเห็นถึงกึ๋นคนพูด เห็นถึงที่มา และถ้าเราไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับเขา สิ่งที่เราพูดมาก็กลับไปหาเขาหมดแหละ
ผลสรุปบาดแผลของน้องแตงโม จาก 11 แผล เป็น 26 แผล ในทางนิติวิทยาศาสตร์มันสามารถเพิ่มจำนวนได้ไหม?
หมอพรทิพย์ : เอามาไหนไม่ทราบ เพราะหมอไม่ได้ยินด้วยตัวเองและไม่ได้เห็นรายงาน แต่ถ้ารายงานจาก 11 เป็น 22 และเป็น 26 แผล อันนี้ก็ผิดปกติ แต่อันนี้อาจจะเป็นการฟังมาไม่ครบถ้วนหรือเปล่า จึงไม่อยากให้ใส่ใจมากนัก เพียงแต่ว่าเรื่องบาดแผล จะมีกี่แผลก็ตามแต่ต้องมีรูปถ่ายยืนยันนะ เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมาเจอมาเยอะ บอกว่าไม่มี แต่เราตรวจแล้วมี เขาอาจจะมองไม่เห็นเอง แผลมันเพิ่มจำนวนเองไม่ได้นอกจากว่าคนตรวจไม่เห็น
หลักนิติวิทยาศาสตร์อธิบายแผลริ้วๆ ได้อย่างไร ตอนแรกบอกไม่เห็น?
หมอพรทิพย์ : แผลริ้วๆ เป็นแผลที่เกิดขึ้นมาแต่แรกแน่นอน เป็นแผลที่มีรูปแบบ จึงแสดงได้ว่ามันเกิดจากอะไรบางอย่าง มนุษย์ทำหรือไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งมันยากมากเพราะมันเกิดที่ต้นขาด้านหลังและเป็นเฉียงๆเพราะฉะนั้นทฤษฎีเราจึงให้น้ำหนักไปทางอุปกรณ์ ตาม Reference ก็คือ ใบพัดเรือ เราจึงนึกถึงใบพัดเรือ
ถ้าแผลที่เกิดจากใบพัดเรือ ส่วนมากมันจะเหวอะหวะ แต่แผลนี้มันสม่ำเสมอ การที่มันสม่ำเสมอแปลว่าทิศทางของร่างที่ขึ้นสู่ใบพัดมันต้องเป็นเส้นตรง เราจึงต้องหาว่ากระแสน้ำตรงไหนที่ทำให้เกิดการไหลผ่านใบพัดเช่นนั้น ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่ท้ายเรือ ไม่ใช่ข้างเรือ ส่วนการบอกว่าตกหัวเรือ คือทฤษฎีที่คงจะใช่ ซึ่งฟังจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเรือก็บอกได้ว่าจุดตกคือ 12 นาฬิกา
อาจารย์ยืนยันมาตลอดว่าแตงโมตกหัวเรือ?
หมอพรทิพย์ : ใช่ค่ะ เพราะว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดแล้ว แล้วก็เป็นตัวบอกได้ว่าน่าเชื่อถือว่าคำให้การ ตามปกติ คำให้การน่าเชื่อถือน้อยกว่า เป็นตัวคัดง้างปากได้ คือหมอเคยเจอเคสที่ปัตตานี เจ้าตัวมีสารระเบิด เจ้าตัวเล่าว่า เกี่ยวข้องกับเหตุนี้ แต่ไม่ได้เล่าว่าเกี่ยวในเหตุระเบิดใหญ่อันหนึ่ง แต่พอเราตรวจร่างกาย เราเจอแผลเป็นที่แขนสองแผล ที่น่องสองแผลและแก้มก้นสองแผล แต่ถามคำให้การบอก ถูกไม้เสียบ
แต่ตัวเราซึ่งเป็นผู้ตรวจ เราไม่เชื่อเพราะเหตุการณ์ที่เขาเล่ามันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดที่อื่น เขาขนระเบิด มีคนตายด้วย พอเราถามอีกครั้งเขาก็ยังตอบยืนยันว่าไม้เสียบ แต่พอใช้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ นำตัวไปเอกซเรย์ก็พบสะเก็ดระเบิดอยู่ทั้งสามแห่ง เพราะฉะนั้นรูทั้งหมดทั่วตัวก็ไม่ใช่ไม้เสียบ รูอันนี้คือสะเก็ดระเบิด อธิบายได้ว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ระเบิด ทำให้สะเก็ดระเบิดเข้ามาในตัวเขา เห็นไหมว่าวิทยาศาสตร์น่าเชื่อกว่าคำให้การ
หลังเจอศพน้องแตงโมสิบกว่าวัน ตรวจเจอเส้นผมที่ท้ายเรือ ใบพัด?
หมอพรทิพย์ : เรื่องพวกนี้ไม่ใส่ใจเลย ยิ่งตรวจช้าเท่าไรมันไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรจะเอามารับฟังเลย และยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบนี่มันไม่น่าให้เกิดขึ้นเลย มันไม่ได้มาตรฐาน
คือระบบไทย การเก็บรวบรวมหลักฐานต้องรอพนักงานสอบสวน สั่งว่าให้เก็บอะไรต้องให้ทำตามเขา เก็บเสร็จแล้วไปส่งตรวจ การส่งตรวจก็แล้วแต่พนักงานสอบสวน ตรวจเสร็จแล้วส่งผลตรวจก็แล้วแต่พนักงานสอบสวนก็สามารถเลือกบางส่วน ไม่เอามาทั้งหมดก็ได้ แต่ในต่างประเทศไม่ใช่ คนที่เก็บมีหน้าที่ทำให้สมบูรณ์และทำให้ดีที่สุด ส่งตรวจให้หมด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่เลยคือ สังกัดเดียวกันมีใครล่ะที่จะไม่กลัว ร้อยตำรวจจะกลัวพลตำรวจไหม ปากบอกไม่เคยแทรกแซง ไม่จริง!
เราพบอยู่แล้วถ้าลองไม่ทำตามสิ ตำรวจผู้น้อยก็โดนปลดโดนแกล้ง สารพัดนั่นแหละ เพราะฉะนั้นในต่างประเทศเหตุการณ์แบบนี้ไม่มีมาอยู่สังกัดเดียวกัน มันต้องให้เขาทำงานได้อย่างเป็นอิสระ
\r\nพบแอลกอฮอล์ในตัวแตงโม แต่คนบนเรือไม่พบปริมาณแอลกอฮอล์เลย?
หมอพรทิพย์ : ปริมาณที่พบอาจจะไม่ใช่ปริมาณจริง เพราะตรวจในลูกตาก็เทียบเท่าเนื่องจากศพอยู่ในสภาพเน่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในตัวของแต่ละคน ก็ไม่ได้แปลได้ตามปริมาณที่กิน แต่จุดที่สำคัญที่ทุกคนกินเหล้า แต่การไม่ตรวจทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีแอลกอฮอล์เท่าไร แถมยังไปทำในสิ่งที่ถ้าเป็นอาจารย์ อาจารย์อายนะ ไปตรวจวันรุ่งขึ้นหรือสองวันต่อมา ไม่ต้องตรวจหรอกมันใช้ไม่ได้ มันคือความไม่รู้จริงๆ หรือจะแกล้งไม่รู้
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกนะคะ มีการตรวจที่รู้แต่ใช้เป็นวิธีหลบ สมมติเกิดอุบัติเหตุ 23.00 น. ผู้ที่ถูกรถชนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แอลกอฮอล์ 180 Mg% แต่ผู้ที่ชนไม่ได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวไปโรงพัก แต่ปรากฏว่าเรา ซึ่งเป็นผู้ตรวจแอลกอฮอล์ไม่เคยต้องขึ้นศาลเลย มารู้ในภายหลังว่า มีคนไปขึ้นศาลโดยมีผลตรวจแอลกอฮอล์ที่เหลือแค่ 10 Mg%
ถามว่าทำไม เพราะตอนเช้าเขาไปตรวจอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แล้วเอาผลการตรวจของอีกโรงพยาบาลใส่ในสำนวนคดี เหตุการณ์แบบนี้มีจริง ไม่งั้นเราไม่พยายามทำให้เกิดการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม เพราะว่าคนที่ทำความผิดสามารถหลบหลีกได้ถ้ามีเงินมีเส้นสาย
คนที่ทำสำนวนและอำนวยความยุติธรรมไม่ยุติธรรมนี่ สามารถพลิกซ้ายพลิกขวาได้ ไม่งั้นจะมีกฎหมายไปทำไมในสังคมนี้ เพราะกฎหมายกลายเป็นที่หากินของคุณ คุณพลิกคดีก็ได้ ถ้าเผื่อคุณบอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ งั้นก็อย่ามีกฎหมายซะ เพื่อให้คนจนไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ อันนี้เป็นเจตนาตรวจทีหลังเพื่อให้ระดับมันลงมาแล้ว
เป็นเพราะอาจารย์ไม่ชอบตำรวจหรือเปล่า เราเลยมาพูดแบบนี้?
หมอพรทิพย์ : เราไม่ชอบตำรวจตรงไหน ไม่ได้ไม่ชอบนะ แต่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ทุกคนควรจะโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ใช่ว่าใหญ่แล้วไม่มีใครตรวจสอบได้เลย
พบยาเสียสาวตัวคนคนหนึ่งที่อยู่บนเรือ?
หมอพรทิพย์ : ยาเสียสาวตัวนี้มันคือยาคลายเครียด เป็นยาที่ทำให้ง่วง สะลึมสะลือขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ และการที่พบยาตัวนี้ในใครก็ตามแต่ต้องไปดูค่ะว่า การอยู่ในผู้ชาย มันก็แค่เขาเครียดก็เลยกิน แต่ถ้าอยู่ในผู้หญิงมันถึงจะสำคัญ และต้องดูปริมาณด้วย ก็แค่นี้ค่ะไม่มีนัยสำคัญ
เคสนี้จมน้ำเสียชีวิตหรือเสียชีวิตก่อนลงน้ำ?
หมอพรทิพย์ : จมน้ำเสียชีวิตค่ะ เพราะในปอดและกระเพาอาหารมีน้ำเต็มไปหมด จมน้ำแล้วเสียชีวิตแน่นอน
จุดตกเป็นน้ำตื้น ริมตลิ่งเป็นไปได้ไหม?
หมอพรทิพย์ : อย่างที่บอกเพราะว่าที่เจอดิน ต้องเอาไปวิเคราะห์กับคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการอยู่รอดในน้ำ หรือไปเทียบลักษณะของทรายของดิน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไดอะตอมก็ได้ จะได้รู้ว่าเสียชีวิตตรงไหน ซึ่งอันนี้เขาคงไม่ได้ทำ
ความสงสัยแรกที่เจอศพแตงโมที่เปลี่ยนสถานที่จากสถาบันนิติวิทยาศาตร์ ไปนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ มันแปลกไหมครับ?
หมอพรทิพย์ : แปลกค่ะ ตามกฎหมายแล้วต้องให้หมอ ณ จุดนั้นเป็นคนตรวจศพ รับผิดชอบตรวจจนจบ แต่เผอิญกฎหมายก็ให้อำนาจกับตำรวจอีก และเคสนี้คนที่สั่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนเป็นคนที่อยู่สูงกว่ามันแปลกแต่ไม่ผิดกฎหมาย มันคือการแทรกแซงค่ะ และไม่เคยมีคำอธิบายใดๆ ออกมาว่าทำไมต้องย้าย เพราะที่สถาบันนิติวิทยาศาตร์มีแล็บ มีห้องปฏิบัติการที่ไม่ต่างกันเลย
มีคำถามไหนในคดีแตงโม ในหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ผมไม่ได้ถาม แต่อาจารย์อยากจะบอกบ้างไหม?
หมอพรทิพย์ : มันมีเยอะไปหมดเลยค่ะ มันคือความล้มเหลวของระบบที่เรามี ถามว่าทำไม การทำงานมันเป็นท่อนๆ ยังไม่ได้มีความอิสระและสมบูรณ์เต็มที่ ถ้าการรวบรวมหลักฐานของไทยยังใช้อำนาจในดุลยพินิจมากขนาดนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นมากมาย ถ้าพูดถึงหลักนิติวิทยาศาสตร์นะคะ มันอยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าคุณจะส่งศพไปตรวจต่อไหม เราไปดูบางคดีในต่างจังหวัด บางที่ให้จบคดีไปเลยอย่างคดีน้องน้ำหวาน ไม่ได้ส่งชันสูตร พอร้องเรียนมาเลยเอาไปส่ง มันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะตามเจ้าหน้าที่มาเก็บหลักฐานไหม แล้วการเก็บหลักฐานจะให้เก็บแบบสมบูรณ์หรือเก็บบางส่วนได้ทั้งคู่ แล้วดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าจะส่งอะไรไปห้องปฏิบัติการ ตรวจเสร็จแล้วบางอย่างจะเอาใส่สำนวนหรือไม่เอาใส่ก็ได้
คดีแตงโมเป็นคดีที่ยากและซับซ้อนสุดตั้งแต่อาจารย์ทำมาเลยไหม?
หมอพรทิพย์ : ไม่เลย คดีแตงโมง่ายมาก ง่ายมากๆ แต่ที่ 3 เดือนแล้วยังไม่จบเพราะกระดุมเม็ดที่ 1 มันผิดไง คดีแตงโมไม่ยากและซับซ้อนแต่มันยุ่งเพราะมีคนเอาธงมาวาง
ขอบคุณรายการ THAIRATH TALK และ Bouquet Talk