เนื่องจากว่าอาการป่วยจากโควิด สายพันธุ์โอไมครอน มีลักษณะคล้ายกับอาการไข้หวัดทั่วไป ที่มักจะเกิดขึ้นได้ในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าป่วย หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด สิ่งแรกที่ต้องทำในขณะนี้ คือการหาซื้อ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่หลายคนคงสงสัยว่า หากเป็นหวัดตรวจ atk จะส่งผลให้ผลตรวจขึ้นมา 2 ขีด เช่นเดียวกับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
สำหรับคนที่เป็นไข้หวัดธรรมดา หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ สามารถตรวจ ATK ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าตรวจแล้วจะขึ้น 2 ขีดที่แสดงว่าติดโควิด เพราะไข้หวัดธรรมดาส่วนใหญ่เกิดจากไรโนไวรัส (Rhinovirus) ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ต่างจากโรคโควิด 19 ที่มีต้นเหตุมาจากไวรัสโคโรนาไวรัส (Coronavirus) (SARS-CoV-2) ดังนั้นทั้ง 3 โรคจึงเป็นการติดเชื้อจากไวรัสคนละตัว แน่นอนว่า จะไม่ทำให้ ATK ขึ้น 2 ขีดแน่นอน
เพราะชุดตรวจ ATK และ RT-PCR มีการออกแบบมาเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นไวรัสทำให้เป็นโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งชุดตรวจ ATK แบบ Antigen จะตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อ SARS-CoV-2 ส่วน RT-PCR จะตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ก่อให้เกิดโควิด 19
ทั้งนี้ กรณีที่ใครตรวจแล้วได้ผลบวก แสดงว่าอาจจะติดโควิด 19 ไม่ใช่ไข้หวัดปกติทั่วไป หรืออาจเป็นผลบวกปลอมจากการติดเชื้อไวรัสตัวอื่น ๆ รวมทั้งอาจใช้ชุดตรวจไม่ถูกวิธี มีการปนเปื้อนขณะใช้งาน หรืออ่านผลเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำ สามารถตรวจซ้ำได้อีกครั้ง
เทียบอาการโควิดและไข้หวัด
อาการ โอไมครอน มีดังนี้
- มีไข้
- ไอ เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ
- หายใจลำบาก
- ได้กลิ่นลดลง
ลักษณะการติดเชื้อโควิดโอไมครอนจะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่ได้ลงปอด ส่วนใหญ่ติดแล้วอาการไม่หนักมาก คล้ายกับเป็นไข้หวัด ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมักจะอาการไม่รุนแรง บางครั้งอาจจะไม่แสดงอาการเลยจึงทำให้มีอัตราการแพร่ระบาดเร็ว และส่งผลให้มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
\r\nอาการโรคไข้หวัด
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาฯ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
- เบื่ออาหาร
- คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ
- บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค