วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567
SHARE

แพร่จากคนสู่คน

โพสต์โดย แสงอุษา เมื่อ 30 พฤษภาคม 2565 - 12:17

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการไบโอเทค โพสต์เฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "ฝีดาษลิง"โดยระบุว่า ไวรัสฝีดาษลิงมีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งแตกต่างจาก ไวรัสโรคโควิด หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็น RNA การเปลี่ยนแปลงของ DNA เปลี่ยนยากกว่า RNA มาก ทำให้ไวรัสในกลุ่มนี้มักมีลำดับพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ตำแหน่งต่อปีเท่านั้น 

แต่ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง ที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้พบว่า มีความแตกต่างจากไวรัสที่เคยแยกได้ ตอนที่กระโดดจากสัตว์มาหาคนเมื่อ 4 ปีก่อน ใน UK สิงคโปร์ และ อิสราเอล ถึง 40 ตำแหน่ง จากเดิมที่เชื่อว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติ เราคาดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันเพียง 4 - 5 ตำแหน่งเท่านั้น ในระยะเวลาที่ต่างกันดังกล่าว แสดงว่าไวรัสที่ระบาดในหลายพื้นที่ตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า ตอนนี้ยังไม่มีใครมีคำตอบที่แน่ชัดว่า เกิดอะไรขึ้นกับไวรัสฝีดาษลิง ปี 2022 (ขอเรียกว่า MPXV-2022) นี้ แต่มีสมมติฐานที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นด้วย และ คิดว่ามีประเด็นน่าคิด 

ผลการถอดรหัสไวรัส MPXV-2022 การเปลี่ยนแปลง 40 ตำแหน่งพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือ จากเดิม GA เปลี่ยนเป็น AA และ จากเดิม TC เปลี่ยนเป็น TT เป็นแบบจำเพาะเจาะจงมาก ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบสุ่ม หรือ เปลี่ยนไปเรื่อย การเปลี่ยนลักษณะแบบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก การเปลี่ยนตัวเองของไวรัสหนีกลไกของโฮสต์ ซึ่งปกติโฮสต์จะมีเอนไซม์อยู่ชนิดนึง ที่ทำหน้าที่ไปจับลำดับเบสของไวรัส แล้วคอยเปลี่ยนเบสดังกล่าว ทำให้เกิดมิวเตชั่นในสารพันธุกรรมของไวรัส เปลี่ยนไปเยอะ ๆ จนในที่สุดไวรัสไปต่อไม่ได้ จึงสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวนของตัวเองในที่สุด  

ดร.อนันต์ ระบุว่า เอนไซม์ดังกล่าว (ชื่อว่า APOBEC) ในแต่ละสปีชีร์ของโฮสต์จะจับลำดับเบสที่ต่างกันไป ของหนูจับอย่างนึง ของคนก็จับอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน ตัวไวรัสเองก็จะต้องมีวิธีในการอยู่ร่วมกับโฮสต์ได้ วิธีนึงคือ เปลี่ยนตำแหน่งที่ APOBEC ของโฮสต์จะจับไปเป็นตัวอื่น เพื่อหนีการตรวจจับของเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้เกิดวิวัฒนาการของไวรัสนั้น ๆ ให้ดำรงอยู่กับโฮสต์ได้ ปกติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลานานพอสมควร ประเด็นที่น่าสนใจคือ GA และ TC ที่ MPXV-2022 มีการเปลี่ยนแปลงถึง 40 ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ APOBEC ของคนใช้ในการตรวจจับ เพื่อทำการจัดการไวรัสตัวนั้น การที่ MPXV-2022 เปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวแบบจำเพาะเจาะจงแบบนี้ อาจเป็นกลไกที่ไวรัสพยายามหนีการจับของเอนไซม์ของคนเพื่อความอยู่รอดในโฮสต์ใหม่ ทำให้นักวิจัยหลายท่านตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่า MPXV-2022 วนเวียนอยู่ในประชากรมนุษย์มาเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว ไวรัสอาจมีปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์ตัวกลางเป็นคน ซึ่งทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น

 

ทั้งนี้ ดร.อนันต์ ย้ำว่า เป็นสมมติฐานที่มีการวิเคราะห์มาจากข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัส ยังไม่มีข้อมูลการแยกไวรัสออกมาเปรียบเทียบคุณสมบัติการเพิ่มจำนวนในเซลล์คนเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เก่า ว่าต่างกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าคงมีให้วิเคราะห์กันต่อในไม่ช้า 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Anan Jongkaewwattana



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com