กรมอนามัย ห่วงความปลอดภัยผู้บริโภค! ย้ำ ประกาศว่าด้วยการใช้กัญชามาประกอบอาหาร เข้ม 6 ข้อ ร้านอาหาร ต้องแสดงข้อมูลปริมาณใบกัญชาต่อรายการอาหาร , แสดงคำเตือนรายการอาหารที่ใช้ใบกัญชาแก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ต่ำ 18 หญิงตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยง , ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณป้องกัน/รักษาโรค
วานนี้ วันที่ 13 มิ.ย.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า หลังกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อคกัญชา ออกจากยาเสพติด มีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร Tetrahydrocannabinol, THC เกินร้อยละ 0.2
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สถานประกอบกิจการอาหารที่มีการนำส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา มาใช้ทำอาหาร ประกอบอาหาร หรือปรุงอาหาร อาจขาดการใช้ที่รัดกุมเพียงพอ อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา กรมอนามัย จึงได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ
สถานประกอบกิจการอาหาร ในประกาศฯ ดังกล่าว หมายรวมถึง ตลาด , สถานที่จำหน่ายอาหาร , สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่หรือทางสาธารณะ ที่จะนำไปใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร
จากเดิมประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2565 ข้อ 3 กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกหรือแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ในการนำใบกัญชามาใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อการจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร ล่าสุด กรมอนามัยได้ออกประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ยกเลิกความในข้อ 3 เดิม เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย แทน
\r\nส่วนข้อกำหนดสำคัญอื่น ๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่
1) จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูล เป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
3) แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
4) แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
5) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
6) ห้ามแสดงข้อความ หรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
ขอบคุณ pr.moph.go.th