ไขข้อข้องใจ "น้ำมันพืช คือไขมันทรานส์ จริงเหรอ" แล้ว "คอเรสเตอรอลล่ะ อันตรายมั้ย" มาฟังคำตอบกัน
เรียกได้ว่าเป็นคำถามคลาสสิกที่คนยังสับสนกันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีคนเอาไปเขียนแชร์กันผิดๆ ว่า "น้ำมันพืชบรรจุขวดที่เราเอามาทำอาหารกินกันนั้น ผ่านกรรมวิธีการผลิต ทำให้ได้ไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ ออกมา" ซึ่งไม่จริงเลย .... วันนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จะมาอธิบายให้ทุกคนได้ฟังกันอีกครั้งในรายการ #กินดีอยู่เป็น จะเสพสื่อโซเชียลอะไร ก็ต้องฟังหูไว้หู
สรุปสั้นๆ จาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
- น้ำมันพืช คือไขมันทรานส์จริงหรือ ?
: คำตอบคือ ไม่จริงงงงง ไขมันทรานส์เป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียงที่มักจะได้จากการทำครีมเทียม เนยเทียม มาการีน ฯลฯ ซึ่งเป็นการนำเอาน้ำมันพืชเหลวๆ มาเติมไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (partially hydrogenated) เพื่อให้มันแข็งตัวมากขึ้น เอาไปใช้ทดแทนเนยจริงจากไขมันสัตว์ได้
: ส่วนน้ำมันพืชที่เขียนว่าผ่านกรรมวิธีนั้น มันเป็นกรรมวิธีการกลั่นผลิต ต่างหาก ไม่ใช่เรื่องการเติมไฮโดรเจน
: น้ำมันพืชเอง ก็ควรเลือกใช้ชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมกับการนำไปทำอาหาร และต่อสุขภาพด้วย (เช่น น้ำมันปาล์ม ถึงจะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง แต่ก็เหมาะกับการนำไปทอดอาหารเพราะไม่ค่อยกลายเป็นควัน)
มาถึงคอเรสเตอรอลกันบ้าง
- คอเรสเตอรอล ไม่ใช่ตัวการก่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจริงหรือ ?
: คำตอบคือ คอเรสเตอรอล มีทั้งชนิดที่ดีต่อร่างกายที่ร่างกายต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และชนิดที่เลวต่อร่างกายที่จะไปก่อให้เกิดการอุดตันเส้นเลือด โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจได้
: ปัจจุบัน งานวิจัยบอกว่า ระดับคอเรสเตอรอลในร่างกาย ขึ้นกับการที่ร่างกายผลิตเอง มากกว่าการกินเข้าไปโดยตรง เลยเริ่มยกเลิกข้อกำหนดที่จำกัดว่าห้ามกินคอเรสเตอรอลเกินวันละเท่าไหร่ ไปแล้ว (ตัวอย่างเช่น ไม่ได้ห้ามกินไข่เกินวันละ 2 ฟองแล้ว)
- แต่การแพทย์กระแสหลัก ยังระบุว่า ไขมันหรือน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนย ฯลฯ สามารถก่อให้เกิดคอเรสเตอรอลตัวเลวขึ้นในร่างกายได้ จึงเตือนไม่ให้บริโภคมากไปเช่นเดิม
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Facebook : Jessada Denduangboripant
ขอบคุณคลิปวิดีโอจาก : กินดีอยู่เป็น แชนแนล