NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย คืนนี้ 27 เมษายน 2564 พบกับปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. เป็นต้นไป

โดยทางเพจNARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ "ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงขณะไกลโลกที่สุดในรอบปีแล้ว

อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14 เปอร์เซ็นต์ และอาจสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้น เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะภาพเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า

สำหรับผู้สนใจรับชมหรือถ่ายภาพปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. เป็นต้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) แนะนำให้ผู้สังเกตการณ์สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคทั้งต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้างและสังคมครับ

อ่านข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมและเทคนิคถ่ายภาพดวงจันทร์ได้ที่ http://bit.ly/Howto-SuperFullMoon270421
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ