เว็บไซต์ จาม.คอม (Jarm.com) ชวนเพื่อนๆมาดูคลิปภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์โดย Experiment at Home มาเปิดโลกเล็กจิ๋วที่ตาเปล่าของเราสังเกตเห็นได้ยากกันแบบชัดๆ
เริ่มด้วยนี่เลย หลอดไฟ 40 วัตต์ที่เราเห็นกันจนคุ้นเคย
ไส้หลอดเส้นบางๆที่เป็นหัวใจสำคัญนั้น เท่าที่ตาเราเห็น ก็เป็นเส้นลวดบางเฉียบเส้นเล็กๆใช่มั้ย
แต่ใครจะเชื่อว่า เมื่อมองไส้หลอดไฟด้วยภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์แล้ว
เราจะเห็นขดลวดทังสเตนขนาดเล็กพันเป็นเกลียวรอบอีกชั้น เฮ้ย!! นี่มันงานละเอียดสุดๆเลยนี่นา แล้วเชื่อมั้ยว่า ถ้าเรายืดเจ้าไส้หลอดเส้นเล็กจิ๋วนี้ออกเป็นเส้นตรง มันจะยาวถึง 2 เมตร!!!
มาส่องมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์กันบ้าง น้ำตาลไง....กริบ ไม่น่าเล่นเนาะ มุกแบบนี้
เจ้าเกล็ดน้ำตาล เวลาเรามีเวลาว่างจัดๆมานั่งจ้องดีๆ ก็จะเห็นว่ามันมีลักษณะเป็นผลึกเหลี่ยมๆใช่มะ และนี่คือภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์เผยหน้าตาที่แท้จริงของเกล็ดน้ำตาลแบบใกล้ๆ
มีข้อมูลมาให้ตกใจเล่นๆนิดนึง รู้มั้ยว่า ในแต่ละปีมีการผลิตน้ำตาลรวมๆประมาณ 170 ล้านตัน หากนับเป็นผลึกน้ำตาล ก็ประมาณ 270 ล้านล้านล้านล้านผลึกต่อปี....ละเอียดป่ะล่ะ
ธนบัตร 20 ยูโร
หากขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น เราก็จะเห็นตัวอักษรซ่อนอยู่ในเนื้อธนบัตร
ซึ่งนี่แหละ สิ่งที่จะทำให้การปลอมแปลงธนบัตรทำได้ยากขึ้น ...ว่าแต่เวลาเราตรวจสอบที่บ้าน เราจะมีกล้องจุลทรรศน์มาใช้ส่องกันมั้ยนะ อย่างดีก็แว่นตาส่องพระเครื่องอ่ะ จะเห็นมั้ยหนอ
มาดูเหรียญยูโรบ้าง
แน่นอนว่า ในเหรียญยูโรไม่ได้ซ่อนตัวอักษรรหัสลับอะไรไว้ เพราะมันไม่ได้เป็นที่นิยมในการปลอมแปลงเหมือนธนบัตร
แต่ความน่าสนใจคือ คุณภาพของการปั๊มเหรียญ ที่ให้รายละเอียดสูงมาก ขนาดขยาย 200 เท่า เราก็ยังคงเห็นรายละเอียดขนาดเล็กที่เฉียบคมบนเนื้อโลหะ
อ่ะ!! ให้ทายว่านี่คืออะไร แถบสีจำนวนมากมายชวนมึนตาแบบนี้
มันคือสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน สี่เหลี่ยมที่อัดเเน่นไปด้วยสีสันจำนวนหลายพิกเซล
ใช่แล้ว!! มันคือเม็ดสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เราเห็นเป็นภาพต่างๆนั่นเอง
มาดูปลายเข็มฉีดยากันบ้าง
มันเป็นวิทยาการที่เกิดขึ้นมาราวๆ 160 ปีก่อน
แต่ด้วยปลายแหลมคมนี่แหละ ที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ ช่วยชีวิตคนและสัตว์มาแล้วตั้งกี่ล้านชีวิต
มาขยายภาพดอกเบญจมาศกันหน่อย
จะเห็นว่า การจัดเรียงของเหล่าเกสรตัวผู้นั้น สวยงามมีระเบียบสุดๆ
ซึ่งการจัดเรียงนี้ ทำให้สามารถกักเก็บอนุภาคต่างๆได้มากที่สุดในพื้นที่จำกัด
สุดท้าย มาชมภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์ของผลไม้แสนหอมหวานอย่างสตรอว์เบอร์รี่กัน
ภาพโครงสร้างสุดซับซ้อนที่เห็น คือโครงร่างของเส้นใยใบที่ขั้วของผลสตรอว์เบอร์รีนี่เอง
และเมื่อขยายดูเนื้อผลสตรอว์เบอร์รี เราจะพบกับภาพชวนฝันร้ายในผลไม้แสนฟรุ้งฟริ้ง
นั่นคือตัวไร ซึ่งเห็นอย่างนี้อย่าตกใจไป เพราะตัวไรมันมีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในขนตาของเรา ....เพียงแต่นึกว่าต้องกินมันเข้าไป ก็ชวนอาเจียนเวียนศีรษะขึ้นมาเลยใช่มะ ทีนี้เห็นความสำคัญของการล้างผลไม้ก่อนรับประทานรึยังล่ะ
แถมความรู้ที่ไม่อยากจะรับรู้ให้นิดนึง หากเรามีฟูกที่นอนซึ่งอายุเกิน 4 ปีละก็ เชื่อมั้ยว่า ที่นอนของเราจะมีน้ำหนักมากกว่าตอนแรกประมาณ 2 กิโลกรัม อันเป็นผลมาจากบรรดาการสะสมของตัวไร ซากศพของมัน และก็บรรดาของเสียที่มันขับถ่าย...ซึ่งทั้งหมดนั้น อยู่บนที่นอนแสนสุขที่เราหลับฝันดีกันทุกคืน...ราตรีสวัสดิ์จ้ะ
ภาพนิ่งมันไม่สะใจ มาชมคลิปภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์เลยดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลและวีดีโอจาก Experiment at Home