ไอแบงก์ สานสัมพันธ์สื่อมวลชน พร้อมจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “พุทธ & มุสลิม แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยไอแบงก์” เพื่อสร้างความเข้าใจและการให้เกียรติในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
เมื่อช่วงค่ำวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ผ่านมา นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) พบปะสื่อมวลชนใน “งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ไอแบงก์ ปี 2565” เพื่อเป็นการขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆของธนาคารตลอดปีที่ผ่านมา ณ รร.อัลมีรอซ ถ.รามคำแหง ซอย 5 เขตสวนหลวง
โดยในการพบปะครั้งนี้ ได้ชี้แจงสถานะการดำเนินงานต่อสื่อมวลชนว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 230 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งผลของการรับรู้รายได้ของลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และสำหรับปี 2565 ธนาคารยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการดีๆที่ให้บริการพี่น้องชาวไทยตั้งแต่ชุมชนในระดับรากหญ้า เช่น โครงการชุมชนซื่อสัตย์ ตลอดจนภาคธุรกิจทั้งรายย่อยจนถึงรายใหญ่ และคาดว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย จะเป็นโอกาสอันดีของไอแบงก์ที่เป็นธนาคารแห่งเดียวที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินระบบอิสลาม อีกด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงการเสวนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “พุทธ & มุสลิม แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยไอแบงก์” ธนาคารยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 2 ศาสนา และดารานักแสดง ร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ พระราชธรรมนิเทศ (หลวงพ่อพยอมกัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี เข้าร่วมเสวนาผ่านระบบ ZOOM พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานกรรมการมูลนิธิ สถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) อาจารย์สันติ เสือสมิง ที่ปรึกษาธนาคาร และนักวิชาการด้านศาสนาอิสลาม และ โจอี้ กานา นักแสดงตลกสัญชาติกานา โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ รับหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนา วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาในวันนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ขอร่วมทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติสุขของพี่น้องในประเทศไทย จัดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของความแตกต่างที่ไม่จำเป็นต้องสร้างความขัดแย้งกันเองของคนในชาติ โดยให้มองเป็นความหลากหลายที่สวยงาม ส่งเสริมความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างในความเชื่ออย่างให้เกียรติกัน ซึ่งในความหลากหลายก็มีความเหมือนคือความเป็นคนหรือความเป็นมนุษย์นั่นเอง และเพราะมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการอิสระ เสรี ต้องการได้รับเกียรติ เหมือนกัน ดังนั้นอย่าให้ความแตกต่างนี้มาทำลายความเป็นคนของเรากันเลย