วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568
SHARE

หมดยุคเรื่องความไม่เท่าเทียม! ทำความรู้จักพร้อมส่องมุมมองหญิงเก่ง “วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล”

โพสต์โดย อัญมณีสีเทา เมื่อ 23 มีนาคม 2565 - 18:32

พร้อมแนะไอเดียบริหารงานฉบับเฉพาะ ส่งต่อแรงบันดาลใจผู้หญิงทุกคนรับเดือนแห่งสตรี

“ปัจจุบันทุกคนอยู่ในยุคที่ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสและสิทธิที่เท่าเทียม ไม่มีข้อจำกัดหรือขีดจำกัดสำหรับผู้หญิงว่าสามารถทำได้แค่ไหน หรืออะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ ทุกเพศล้วนมีความเท่าเทียมกัน ทุกอย่างอยู่ที่มุมมอง เพียงแค่ต้องมีความกล้าที่ทลายกำแพงอคติที่เกิดขึ้นก่อน เพราะถ้ายังคิดหรือมองว่าเรื่องนี้มีแค่ผู้ชายที่ทำได้ ไม่ว่าอย่างไรผลลัพธ์ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง”

ข้างต้นคือมุมมองส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของ นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ที่มีต่อเรื่องเพศสภาพว่ามีความสำคัญหรือมีผลต่อการบริหารธุรกิจอย่างไร เพราะปัจจุบันพบว่าในโลกการทำงานผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาททัดเทียมผู้ชายมากขึ้นในการบริหารธุรกิจแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง เห็นได้จากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของหลากหลายองค์กรชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ ตลอดจนผู้นำประเทศ

เพื่อให้สอดรับกับเดือนแห่งสุภาพสตรี ถือเป็นโอกาสดีที่จะพาทุกคนมาเปิดมุมมองของผู้บริหารหญิงคนเก่งที่ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญขับเคลื่อนสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกอย่างธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย โดยเธอพร้อมแบ่งปันเรื่องราวผ่านแนวทางการบริหารงานแบบผู้หญิงแถวหน้ายุคใหม่ ตลอดจนบอกเล่าเคล็ดลับการลงทุนและบริหารทีมงานที่มีความแตกต่าง รวมถึงอะไรคือแรงบันดาลใจและความท้าทายที่ทำให้เธอ Break the Bias ทลายอคติ ก้าวสู่สายงานบริหารระดับสูงที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตำแหน่งที่ผู้ชายยังมีบทบาทสำคัญ

เริ่มต้นกันที่แนวคิดการบริหารการเงินและการลงทุนสไตล์ผู้หญิงยุคใหม่ที่ปัจจุบันต้องทำหน้าที่ทั้งการบริหารงาน และบริหารครอบครัวไปพร้อมกัน โดย นางวีระอนงค์ ได้เผยถึงมุมมองการบริหารการเงินและการลงทุนออกเป็น 3 เรื่องหลักด้วยกัน คือ ลงทุนผ่านการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากโลกของการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงและมีความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนได้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งทุกคนต่างก็มีหลายบทบาทที่ต้องทำ หลายครั้งทำให้ไม่สามารถติดตามสถานการณ์การลงทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลและให้คำแนะนำมากกว่าการตัดสินใจด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้ ต่อมาคือ ควรวางแผนการลงทุนในระยะยาว เพราะการลงทุนระยะยาวเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นถึงเป้าหมายแต่ละช่วงชีวิตที่วางไว้ได้อย่างชัดเจน นอกจากสินทรัพย์ทางการเงินที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม ยังมีการลงทุนระยาวอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Passion Investment คือการซื้อของบางอย่างจากความชื่นชอบเพื่อใช้งานหรือเก็บสะสม ไม่ว่าจะเป็น อัญมณี กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งนับเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้เช่นกัน สุดท้ายคือ การมีเงินสำรองใช้กรณีฉุกเฉิน เนื่องจากทุกคนไม่สามารถคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรมีเงินทุนสำรองเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งแนวคิดการบริหารเงินและการลงทุนทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเริ่มทำได้ด้วยตัวเอง

นอกจากมุมมองด้านการบริหารเงินแล้ว นางวีระอนงค์ ยังเผยถึงมุมมองด้านการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตนเอง โดยยึดหลัก 3C ประกอบด้วย ความกล้า (Courage) หมายถึงต้องกล้าที่จะลองเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รวมถึงกล้าที่จะลอง ไปกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา เพราะความกล้าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายและความสำเร็จที่วางไว้ ต่อมา ความชัดเจน (Clarity) ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานได้คือต้องมีความชัดเจนในตนเอง รู้ถึงความต้องการและเป้าหมายของตนเองก่อน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับบุคคลภายในองค์กร หรือภายนอกองค์กร รวมถึง ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น (Compassion) เพราะในโลกการทำงานไม่มีใครสามารถทำงานสำเร็จได้เพียงลำพัง ทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากคนรอบข้าง ดังนั้นควรมีความเข้าใจในความต้องการของทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ไปพร้อมกับการเคารพซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

ในขณะที่ด้านเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตเช่นกัน ทุกคนควรจะต้องมีการบริหารจัดการทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างเหมาะสม โดยเธอเองยึดหลักการ 33% ที่สามารถปรับใช้ได้กับชีวิตและความเป็นมืออาชีพในการทำงาน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ การบริหารเวลาให้กับทีมงานที่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของเรา โดยคนกลุ่มนี้ ถือเป็นกำลังหลักที่ช่วยให้งานของเราสำเร็จลุล่วง เป็นฟั่นเฟืองที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ ดังนั้นการใช้เวลากับทีมงานของเราเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม นอกเหนือจากการเป็นหัวหน้างานแล้ว ยังสามารถเป็นโค้ชที่คอยช่วยแนะนำ สนับสนุนและส่งเสริม รวมถึงได้แบ่งปันแนวคิดหรือวิธีการทำงานให้กับทีมด้วย ส่วนที่สองคือ เพื่อนร่วมงาน (Same Level) ที่ทำงานในฟังก์ชันต่าง ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้จากคนอื่น ๆ รวมถึงได้ความเห็นที่ต่างออกไป ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายที่นำไปสู่การพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นไป เพราะทุกคนไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว ส่วนสุดท้ายคือ หัวหน้างาน ผู้รู้ในด้านต่าง ๆ หรือผู้ที่อาวุโสกว่า การที่ได้เรียนรู้และพูดคุยกับคนอาวุโสกว่า มีประสบการณ์การทำงานมามากกว่า จะช่วยให้เห็นทัศนคติและวิธีแนวความคิดในอีกมุมมองที่แตกต่างออกไป ทำให้ได้เพิ่มทักษะและศักยภาพของตนเองมากขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

พร้อมกันนี้ในเดือนมีนาคมที่ถือเป็นเดือนแห่งสุภาพสตรี นางวีระอนงค์ ยังให้มุมมองของนักบริหารหญิงที่มีต่อแนวคิด “Break the Bias – ทลายอคติ” ซึ่งเป็นธีมหลักในปีนี้ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงการเคารพในความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีข้อจำกัดในการแบ่งแยกเพศหรือการเลือกปฏิบัติต่อกัน โดยเธอบอกว่าปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสและสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่มีข้อจำกัดใดที่ขีดเส้นความสามารถว่าผู้หญิงทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน ซึ่งซิตี้แบงก์เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน นโยบายในการจ้างงานของซิตี้แบงก์ทั่วโลกกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนพนักงานผู้หญิงและผู้ชายในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุด รวมถึงยังมีการอบรมให้กับผู้บริหารระดับสูงต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวคิด และลดทอน¬อคติแบบไม่รู้ตัว (Unconscious Bias) ที่อาจเกิดจากเพศสภาพที่แตกต่างกันอีกด้วย

อีกทั้งในโลกการทำงาน แน่นอนว่าระหว่างทางการทำงานย่อมต้องพบเจอกับอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป แม้จะดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหาร และมีประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนาน เธอก็ยังต้องหาวิธีจัดการกับอุปสรรคที่เข้ามาเช่นกัน โดยเธอได้เล่าถึงวิธีการจัดการกับอุปสรรคไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

“วิธีจัดการกับอุปสรรคที่เจอของตนเอง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการฝึกฝนตนเอง ไม่ให้กลัวกับอุปสรรคที่เข้ามา เพราะในโลกการทำงานอุปสรรคเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราต่อปัญหานั้นให้เป็นเชิงบวก เพราะทุกอุปสรรคถือเป็นโอกาสที่ให้ได้เรียนรู้ในการที่จะช่วยพัฒนาตัวเอง เพื่อนำไปสู่การหาทางแก้ไขให้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเป็นประสบการณ์ที่จะมาช่วยทำให้การทำงานมีศักยภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้องพร้อมยอมรับความผิดพลาด และรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานให้ออกมาดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน”

สุดท้าย นางวีระอนงค์ บอกว่า อยากให้ทุกคนมองว่าอคติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยอดีตหรือจากคนรอบตัว บางทีสุดท้ายแล้วพบว่าคือตัวเราเองที่ตั้งอคติขึ้นมาจนเกิดเป็นสงครามที่อยู่ภายในจิตใจ ดังนั้นต้องกล้าที่จะ Break the Bias หรือทลายกำแพงอคติที่มาขวางกั้นให้หมดสิ้นไป เพราะหากไม่กล้าที่จะทลายอคติที่มีอยู่ไม่ว่ากับสิ่งไหนก็ตามทั้งในเรื่องการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว การก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้คงไม่อาจสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้คือมุมมองผู้บริหารหญิงคนเก่งมากความสามารถของ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านด้านบทบาทของผู้หญิงยุคใหม่ที่ต้องรับมือกับสิ่งท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารเงินและการลงทุน การบริหารงานและเวลา ตลอดจนการการทลายคติในสิ่งต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแนวคิดและแรงบันดาลใจเหล่านี้ไปถึงผู้หญิงอีกมากมาย



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com