สาเหตุการเกิด “โรคกระเพาะอาหาร” ที่หลายคนทราบดี คือการทานอาหารไม่ตรงเวลา ปล่อยให้ท้องว่างจนกระเพาะอาหารเสียสมดุลของกรดภายในกระเพาะอาหารนำไปสู่การทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่อีกสาเหตุหลักที่เป็นตัวการให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทั้งยังสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ นั่นก็คือ “เชื้อเอชไพโลไร หรือ H.Pylori ( Helicobacter Pylori) ”
รู้จักแบคทีเรียตัวร้าย H.Pylori
เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) หรือ เอชไพโลไร (H.Pylori) คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ จากการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกัน การบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อน และการปรุงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะอาศัยอยู่ภายในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้นเหตุให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
อาการของผู้ติดเชื้อ H.Pylori
โดยปกติแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อ H.Pylori มักจะไม่แสดงอาการ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
l ปวดหรือแสบร้อนที่ท้องบริเวณเหนือสะดือ
l ปวดรุนแรงเมื่อท้องว่างหรือหลังจากรับประทานอาหาร
l คลื่นไส้ อาเจียน
l จุกเสียดลิ้นปี่
l ท้องอืด เรอบ่อย
l เบื่ออาหาร
l น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
แต่ในรายที่มีอาการอักเสบรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เร่งด่วนจะมีอาการ ดังนี้
l ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย หรือมีเลือด และกลิ่นรุนแรง
l ปวดท้องรุนแรง เรื้อรัง
l อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีน้ำตาลคล้ำ
H.Pylori คือแบคทีเรียทีมีความสามารถในการสร้างด่างเพื่อป้องกันตนเองจากกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ H.Pylori สามารถแฝงอยู่ในร่างกายในนานเป็น 10 ปี โดยแทบไม่แสดงอาการ เสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากถึง 2-6 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่มีการติดเชื้อ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกจัดให้เชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งกระเพาะอาหารดังนั้นการกำจัดเชื้อ Helicobacter Pylori จึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
การตรวจหาเชื้อ H.Pylori จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ทราบต้นตอก่อนเกิดอาการรุนแรง ซึ่งปัจจุบันสามารถทำการตรวจได้หลายวิธี โดยการตรวจวินิจฉัยเชื้อทางลมหายใจที่เรียกว่า “Urea Breath Test หรือ การเป่าลมหายใจและวัดหาระดับยูเรีย” เป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว ความแม่นยำสูง ( ความไว 88-95% ) และไม่ก่อให้เกิดการเจ็บตัว ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสการเกิดแผลในกระเพาะอาหารซ้ำ และการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร