วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567
SHARE

“บ๊อบ-ณัฐธีร์” วิเคราะห์เตือนภัย “พายุโนรู” ตุลาคมเข้าปกคลุมไทย พร้อมใจ รับมือ

โพสต์โดย เอมี่ จาม เมื่อ 2 ตุลาคม 2565 - 13:47

เฝ้าระวังจับตาพายุไต้ฝุ่น โนรู หลังเข้าถล่มเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ล่าสุดลดกำลังลงปกคลุมภายในประเทศไทย เหลือเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เกิดผลกระทบลมไม่มาก แต่น้ำมาแรง และฝนตกหนักต่อเนื่อง สร้างภาวะน้ำท่วมหลายระดับในหลายพื้นที่ เจาะประเด็นฝนฟ้าอากาศผ่านผู้ประกาศข่าว “บ๊อบ-ณัฐธีร์  โกศลพิศิษฐ์” ในรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) ทางช่อง MONO29 หลังติดตามสถานการณ์สดกับ คุณพงศกร  รอดภัย  ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ไปกับ คุณบิณฑ์  บันลือฤทธิ์ นำถูกยังชีพ และสิ่งของจำเป็นไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน รวมถึง คุณศักดิ์สิทธิ์  สุภิษะ  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์  ที่รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่แบบสด ๆ  และ  คุณชวลิต  จันทรรัตน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางพายุและการรับมือภายในรายการ

บ๊อบ ณัฐธีร์ : ก่อนอื่นพาคุณผู้ชม ไปดูผลกระทบ ความเดือดร้อนมีอยู่สองพื้นที่ผู้สื่อข่าวอยู่ในสถานการณ์ เริ่มจาก ตำบลการะแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีก่อนครับ                                                                

คุณพงศกร : ชุมชนแห่งนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่อยู่ติดลำน้ำมูลขณะนี้มวลน้ำจากลำน้ำมูลทะลักเข้าสู่พื้นที่ น้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มค่อนข้างเร็ว ประชาชนที่พักอาศัยในชุมชนแห่งนี้ประมาณ 100 ครัวเรือน ขณะนี้คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์และมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้เข้ามาในชุมชนนำเอาอาหาร ข้าวปรุงสุก ถุงยังชีพ น้ำดื่ม และเงินเยียวยามามอบให้กับประชาชนที่ยังพักอาศัยอยู่ในบ้าน ที่ไม่ได้อพยพออกไปด้านนอก  ส่วนการเดินทางเข้ามายังจุดนี้ต้องเป็นรถยกสูงกับเรือเท่านั้น เพราะว่าระดับน้ำบางจุดสูง 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ต่ำสุด 70 เซนติเมตร ดังนั้นรถธรรมดาทั่วไปไม่สามารถสัญจรเข้ามาได้เลย เมื่อสักครู่คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ไปยังเกาะซึ่งเป็นพื้นที่สูง เป็นพื้นที่โล่งกว้าง ก็จะมีสุนัขจรจัดในชุมชน ที่เขาอาศัยอยู่ตามชุมชนไม่ได้ เขาก็จะไปอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนั้นมีประมาณ 500 กว่าตัว ก็จะมีคนที่รักสุนัขไปทำเพิงให้พักอาศัยอยู่ ซึ่งคุณบิณฑ์ก็ได้ไปซื้ออาหารประมาณ 200 กิโลกรัม นำไปให้สุนัขบนเกาะ ซึ่งเราต้องนั่งเรือจากชุมชนไปที่เกาะแห่งนี้ประมาณ 3 กิโลเมตร นำเอาอาหาร น้ำ ไปให้กับสุนัขที่อยู่บริเวณเกาะแห่งนี้  

บ๊อบ ณัฐธีร์ : สอบถามอาจารย์ชวลิตตอนนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานีเดี๋ยวน้ำจะไหลมาจากด้านบนอีก เพราะพายุโนรูมันพัดตะวันตกก็จริงแต่มันเฉียงเหนือขึ้นไป มันจะเป็นยังไงครับ?     

คุณชวลิต : ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาตลอดทั้งวันก็เคลื่อนที่อยู่ในตามลำน้ำชี หมายถึงว่าจากระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีและอำนาจเจริญที่พายุเข้ามาก็วิ่งมาที่ยโสธรต่อไปที่จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ตอนเย็นก็ไปถึงจังหวัดขอนแก่นและเข้าไปที่ชัยภูมินี่คือชื่อเมืองที่พายุผ่านเข้าไป แต่น้ำที่ตกที่จังหวัดชัยภูมิไหลมาที่จังหวัดอุบลราชธานีน้ำตกขอนแก่นก็ไหลมาที่อุบลราชธานีจังหวัดกาฬสินธุ์  มหาสารคาม  ร้อยเอ็ดก็ไหลมาที่อุบลราชธานีทั้งหมด นอกจากนั้นแนวเส้นทางเดินนี้มันจะมีการเหวี่ยงตัวดึงความชื้นเอาฝนมาตกขอบๆ ถ้าขอบบนเหนือเส้นขึ้นไป เช่น จังหวัดอุดรธานี หนองคาย ฝนจะตกน้อยมาก เพราะมีลมเย็นจากประเทศจีนเข้ามาช่วยบรรเทา เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ฝนจะตกคู่กันไปก็คือจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา และน้ำก็จะไหลจากนครราชสีมา มาถึงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ แล้วก็มารวมตัวกันที่อุบลราชธานี ดังนั้นที่ผู้สื่อข่าวบอกว่าพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะต้องรับน้ำอีกมากและน่าจะท่วมอีกเป็นเดือน         

บ๊อบ ณัฐธีร์ : จากอุบลราชธานี ไปดูกันต่อที่ตำบลสังขะ จังหวัดสุรินทร์ กับคุณศักดิ์สิทธิ์ รายงานสถานการณ์จากในพื้นที่                                                   

คุณศักดิ์สิทธิ์ : ในพื้นที่ในอำเภอสังขะ ถนนเส้นสังขะ-บัวเชด จังหวัดสุรินทร์ในพื้นที่มีน้ำปกคลุมไปทั่วท้องถนนเนื่องจากเขื่อนขยอง มีการแตกเสียหายทำให้น้ำไหลลงมาจากเขื่อน ทำให้บริเวณพื้นที่อำเภอสังขะเกิดน้ำท่วม ไม่สามารถสัญจรได้โดยเฉพาะรถเก๋งขนาดเล็ก เนื่องจากกระแสน้ำพัดแรงและมีระดับน้ำสูง  

บ๊อบ ณัฐธีร์ : พื้นที่ไหนน่าเป็นห่วงครับจากนี้ไป?                                                                 

คุณชวลิต : ก็คือบริเวณลุ่มต่ำแถวจังหวัดพิจิตรซึ่งตอนนี้ฝนตกแล้วน้ำก็ยังค้างอยู่ เพราะจังหวัดพิจิตรมีน้ำเดิมอยู่แล้ว และยังมีน้ำที่จะต้องรับมาจากจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลกที่มีฝนตกเมื่อคืนก็จะลงมารวมกันที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งน้ำจากจังหวัดพิจิตรก็จะไหลลงไปที่นครสวรรค์ แล้วก็จะมาภาคกลางตอนบน ตอนล่าง ซึ่งตอนนี้ก็มีน้ำเยอะอยู่แล้ว แล้วก็จะมีน้ำจากลำปางไหลลงมาอีก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแม่มอกที่จะไหลมาทางสุโขทัย เขื่อนกิ่วคอหมา ดังนั้นวันที่ 1 ตุลาคมนี้ต้องระมัดระวัง และเมื่อน้ำไหลลงมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็จะผ่านมาที่จังหวัดชัยนาท ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ที่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และประชาชนที่อยู่ข้างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง คลองบางบาล ที่มีน้ำมากอยู่แล้วก็จะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีก   

บ๊อบ ณัฐธีร์ : เราจะอยู่กับสถานการณ์ลม และฝนและน้ำแบบนี้อีกนานแค่ไหนครับอาจารย์?      

คุณชวลิต : ในเดือนตุลาคมนี้เป็นฤดูฝนปกติเพราะฉะนั้นตอนนี้ร่องความกดอากาศวิ่งเข้าร่อง แหมความกดอากาศต่ำจะไปแล้วแต่ก็ยังหลงเหลือหางอยู่แถวลำปางเชียงใหม่ลำพูนซึ่งต้องระมัดระวังถัดจากนี้ไปจะเป็นน้ำในประเทศไทยเองความชื้นที่พัดมาลงร่องเช่นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงก็จะมาลงร่องมรสุมเดิม ฝนก็จะตกอีกซึ่งอยู่ที่ว่าร่องจะเคลื่อนที่ขึ้นลง ถ้าหากไม่เคลื่อนที่ขึ้นลงฝนตกซ้ำที่เดิมหลายวัน น้ำก็จะท่วมหนัก                                            

ติดตามรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศษฐ์” เจาะลึกกันแบบสด ๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/o01p8Fd-bWo

#Mono29 #บ๊อบณัฐธีร์ #Thedaynewsupdatespecial #เจาะข่าวเด็ดสเปเชียล #พายุโนรู #น้ำท่วม



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com