ภูมิแพ้ เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็น จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งธรรมชาติของภูมิแพ้คือ คนส่วนมากจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ตั้งแต่เด็กๆ มีบางช่วงที่อาการดีขึ้น และบางช่วงอาการแย่ลง เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นอาจไม่มีอาการของภาวะภูมิแพ้อีก เด็กส่วนมากอาจกลับมามีอาการอีกเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรืออายุประมาณสามสิบกว่าขึ้นไป ล่าสุด ศิริราชผลิต วัคซีนไรฝุ่น ช่วยผู้ป่วยภูมิแพ้ใช้ รายแรกในอาเซียน

วันที่ 6 ธ.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร อาจารย์ประจำภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ กล่าวว่า จากสถิติโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจของประเทศไทย พบว่า โรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนบน คือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของประชากร หรือเท่ากับ 20 ล้านคน และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ โรคหืดภูมิแพ้อีกประมาณ 4 ล้านคน ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี สาเหตุสำคัญมาจากภาวะภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ จากผลการศึกษาหลายแห่งพบตรงกันว่า “ไรฝุ่น” เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจมากที่สุด พบผู้ป่วยเด็กร้อยละ 70 ผู้ใหญ่ร้อยละ 70-90 และคนทั่วไปร้อยละ 30 ที่แพ้ไรฝุ่น ในขณะที่น้ำยาทดสอบและวัคซีนโรคภูมิแพ้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้นมีราคาแพง


รศ.ดร.นพ.พงศกร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2550 เตรียมความพร้อมในการรับมือและเดินหน้าผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบโรคภูมิแพ้ เพื่อมาดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยระยะแรกได้ผลิตชุดทดสอบ ประกอบด้วย น้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ที่จำเป็น 8 ชนิด ได้แก่ 1. น้ำยาทดสอบภูมิแพ้ไรฝุ่น ชนิด Dp 2. น้ำยาทดสอบภูมิแพ้แพ้ไรฝุ่น ชนิด Df 3. น้ำยาทดสอบจากขนแมว 4. น้ำยาทดสอบจากขนสุนัข 5. น้ำยาทดสอบจากแมลงสาบ 6. น้ำยาทดสอบจากหญ้าขน (Para Grass) 7. น้ำยาทดสอบจากวัชพืชผักโขม (Careless Weed) และ 8. น้ำยาทดสอบจากเชื้อรา (Cladosporium spp.) ซึ่งผลจากการทดสอบจะเป็นแนวทางให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการกำจัดหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ได้อย่างถูกต้อง และหากมีข้อบ่งชี้ก็สามารถให้การรักษาโดยการฉีดวัคซีนต่อไปได้



รศ.ดร.นพ.พงศกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มเพาะเลี้ยงไรฝุ่นบริสุทธิ์ทั้งสองสายพันธุ์ คือ Dermatophagoides pteronyssinus (Dp) และ Dermatophagoides farinae (Df) ซึ่งเป็นไรฝุ่นที่พบบ่อยในฝุ่นบ้านและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในคนไทย แทนการซื้อตัวไรฝุ่นจากต่างประเทศเพื่อการวิจัย ซึ่งมีราคาแพงมากกว่าที่ผลิตเองถึง 10 เท่า โดยขณะนี้วัคซีนไรฝุ่นซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตขึ้น และนำมาใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วย จากการสำรวจทั้งในและต่างประเทศพบว่า ศิริราชเป็นรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผลิตวัคซีนไรฝุ่น เพื่อจำหน่ายอย่างครบวงจร โดยวัคซีนที่ผลิตได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้แมลงสาบ เกสรหญ้า และวัชพืชชนิดฉีด เนื่องจากเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย รองลงมาจากไรฝุ่น นอกจากนั้น จะมีการพัฒนาวัคซีนประเภทหยดเข้าไปในปาก บริเวณใต้ลิ้น (ชนิดกิน) ซึ่งมีการนำมาใช้แล้วที่ต่างประเทศ มีข้อดีคือสะดวก ไม่เจ็บ และใช้ในเด็กได้ดีอีกด้วย