ขุดดินแลกน้ำ พลเอก ประยุทธ์ ให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน เป็นการขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 ทีมข่าว Workpoint รายงานว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่องและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำของแต่ละพื้นที่ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากเพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน
ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน ด้วยการ “ขุดดินแลกน้ำ” โดยใช้วัสดุมูลดินที่ได้จากการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อเป็นการบริหารจัดการวัสดุมูลดินให้เกิดประโยชน์ และเป็นการขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายให้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณาดำเนินการ “ขุดดินแลกน้ำ” ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ศึกษาแนวทางการดำเนินการตามนโยบายการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขินเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และแนวทางการบริหารจัดการวัสดุที่ได้จากการขุดลอก ของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบการดำเนินการดังกล่าวด้วย
สำหรับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในการประชุมเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการ อาทิ การกำกับติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และปัญหาการใช้น้ำของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ การมอบหมายส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
การควบคุมการระบายน้ำ จัดสรรน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก การติดตามการดำเนินการตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 โดยเฉพาะสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยให้ควบคุมไม่ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุน พร้อมขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องสูบน้ำ ให้ปฏิบัติตามปฏิทินการสูบน้ำของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด และให้ดูแลการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือติดต่อสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก WorkpointNews