เปิดประวัติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ หรือที่รู้จักในชื่อของ บิ๊กแป๊ะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ชาวเน็ตได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในฮีโร่ของเมืองไทย ที่ไม่ว่าปฏิบัติการใดหรือสถานการณ์เสี่ยงแค่ไหนเราก็จะเห็นท่านลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับลูกน้องเสมอ สมกับรหัสวิทยุ “พิทักษ์ 1” ของผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ผู้นำของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ชื่อเล่นว่า แป๊ะ สื่อมักพาดหัวข่าวเรียกว่า “บิ๊กแป๊ะ” เป็นบุตรของคหบดีเมืองอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 36 ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 11 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ต่อจาก พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ตอนขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ อายุเพียง 55 ปี เป็นที่ฮือฮาของวงการสีกากีในขณะนั้นมาก เพราะเป็น ผบ.ตร. ตั้งแต่อายุยังน้อย มีอายุราชการนั่งเก้าอี้ถึง 5 ปี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ย้อนเส้นทางของ บิ๊กแป๊ะ ตำรวจมือปราบไฟแรง เมื่อปี 2543 สมัยเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้เข้าเจรจากับนักโทษพม่าที่แหกคุก จับผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาครเป็นตัวประกัน จนเป็นข่าวโด่งดังในขณะนั้น
อีกภาพจำเมื่อปี 2551 ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พล.ต.ต.จักรทิพย์ (ยศในขณะนั้น) ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ระหว่างนำกำลังตรวจตรารอบอาคารรัฐสภา (เดิม) เกิดเหตุการณ์ชุลมุน ทั้งควันปืนและแก๊สน้ำตา ชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บขาขาด บิ๊กแป๊ะได้ถอดเสื้อผ้าตัวเข้าปฐมพยาบาลช่วยชีวิตห้ามเลือดในชายคนนั้น จนกลายเป็นภาพที่ได้รับเสียงชื่นชม มีการนำเสนอจากทั้งสื่อไทยและต่างชาติ
นอกจากผ่านงานใน บช.น. ตำแหน่งสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว (แทนพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง) บิ๊กแป๊ะเคยเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม ในช่วงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรง เคยลงพื้นที่ไปสืบสวนปราบปราม ในนามทีมตำรวจใต้ เคยอยู่ในทีมสืบสวนของบช.ก. ติดตามจับกุมสมคิด พุ่มพ่วง ฆาตกรต่อเนื่อง เมื่อปี 2548 และยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่หลายปี
ลุยคดีใหญ่ช่วงเป็นผบ.ตร.
ในช่วงที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. หลายคดีเกิดขึ้นสะเทือนขวัญสร้างความทุกข์ใจให้กับประชาชน เช่น คดีฆ่ายกครัวผู้ใหญ่บ้าน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เมื่อปี 2560 พล.ต.อ.จักรทิพย์ นำทีมสืบสวนที่รู้ฝีมือดีเรียกว่า “ดรีมทีม” ลงไปในพื้นที่จนสามารถจับ “บังฟัต” ตัวการได้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า บังฟัตจะต้องถูกลงโทษประหารชีวิต เนื่องจากมีพฤติกรรมโหดร้ายฆ่าผู้หญิงและเด็ก
ปี 2561 บิ๊กแป๊ะ กลายเป็นขวัญใจ “ฮีโร่ถ้ำหลวง” อีกคน จากการนำตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ไปปีนเขาหาโพรงถ้ำเพื่อจะโรยตัวไปช่วย 13 หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนในช่วงที่ยังสูบน้ำที่ท่วมถ้ำไม่ได้และดูเหมือนหนทางที่จะพาออกทางหน้าถ้ำมืดมน
สไตล์ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ คือ เรียบง่าย ขาลุย ไม่รอฟังรายงาน สั่งการในห้องแอร์ มักลงไปติดตามการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และบัญชาการเองในคดีสำคัญๆ อย่างเช่น คดีกราดยิงชิงทองที่ จ.ลพบุรี ต้นเดือนมกราคมปี 2563 ช่วงแรกได้ส่ง รองผบ.ตร. ลงไปทำงาน แต่เมื่อดูแล้วผ่านไปหลายวันยังจับคนร้ายไม่ได้ จึงเดินทางไปเองให้ข่าวน้อยแต่พูดคำสำคัญๆ จนทำให้คนร้ายชะล่าใจว่าหลบหนีพ้น จนสุดท้ายก็รวบตัว อดีต ผอ.กอล์ฟ พร้อมทองคำของกลางที่ชิงไปได้อย่างอยู่หมัด
กับเหตุการณ์สะเทือนขวัญประชาชน กราดยิงที่โคราช บิ๊กแป๊ะ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากกรุงเทพฯ มาถึงโคราชในวันที่เกิดเหตุ แล้วนั่งรถตู้เข้ามาที่ห้างเทอร์มิเนล 21 ในช่วงหัวค่ำ จากนั้นก็หายหน้าไป… ก่อนออกจากห้างมาอีกครั้งในตอนเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ หลัง 9 นาฬิกา หลังวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายจบสิ้นลง และก็เดินทางขึ้นรถตู้กลับทันที
ดีกรีการศึกษาการันตีความเฉียบ
พล.ต.อ.จักรทิพย์ จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในรุ่นที่ 36, ปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา ผ่านหลักสูตรอบรมสืบสวนสอบสวนจากเอฟบีไอ, หลักสูตรสืบราชการลับจากหน่วยซีเครตเซอร์วิสของสหรัฐอเมริกา “U.S. Secret Service – Counter Assault”, หลักสูตรต่อต้านก่อการร้าย นเรศวร 261 อรินทราช 26 (ตำรวจสายบู๊ของ บช.น.)
ขณะที่ในปฏิบัติการจบเกม ทหารคลั่งที่โคราช บิ๊กแป๊ะ มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวน สารวัตรฮัท ร.ต.อ.ชานันท์ ชัยจินดา สารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในตำแหน่งผู้นำหน่วยนเรศวร 261 คุมทีมเคียงข้างพ่อหยุดวิกฤตินี้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก WorkpointNews