พบข้อมูลล่าสุด นักวิจัยจีนย้ำ โควิด-19 มีโอกาสกลายพันธ์ุอีก คือไวรัสจะพัฒนาตัวเอง หรืออาจมี 2 สายพันธ์ุ นั่นเอง ทั้งนี้ วันที่ 4 มีนาคม 2563 สำนักข่าวคมชัดลึก ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ทั้งหมด
โดยรายงานเรื่องการกลายพันธ์ุของ ไวรัสโควิด-19 ได้เปิดเผยจากสำนักข่าวคมชัดลึกไว้ว่า งานวิจัยล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ - แพทย์ ชาวจีน ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร National Science Review เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ค้นพบข้อมูลล่าสุดว่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่พบล่าสุด อาจมี 2 สายพันธุ์ ซึ่งเกิดจากการ “กลายพันธุ์” และพัฒนาตัวเองของเชื้อไวรัส โดยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัส 103 ตัวอย่าง และพบการกลายพันธุ์มากกว่า 149 จุด
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน เรียกไวรัสโคโรน่าตัวที่กลายพันธุ์ว่าเป็น L Type ซึ่งสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้มากกว่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตัวแรก หรือ S Type
ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่า มีการกลายพันธุ์จาก S Type เป็น L Type ตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 มกราคม ในอู่ฮั่น จุดศูนย์กลางของการระบาดไปทั่วโลก โดยเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พบขณะนี้ เป็นตัว L Type มากกว่า 70% และเป็น S Type ราว 30%
การศึกษายังพบอีกด้วยว่า มาตรการ “คุมเข้ม” การระบาด ของทางการจีน เช่น การปิดเมือง อาจมีส่วนสำคัญทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์จาก S Type ไปเป็น L Type อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีเชื้อไวรัสโคโรน่าชนิดเดียว คือไม่ใช่ S Type ก็เป็น L Type
ทั้งหมดนี้ นักวิจัยได้ระบุในรายงานด้วยว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีการ “กลายพันธุ์” ของเชื้อไวรัสอีก หลังมีการระบาดไปยังทวีปอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ในมาเลเซีย เริ่มมีเคสที่เข้าข่าย ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super - Spreader) โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันเดียว 14 คน หลังจากตัวเลขผู้ป่วยในมาเลเซีย นิ่งอยู่ที่ 36 คนมานาน
14 เคสที่เพิ่มขึ้นใหม่ เกิดจาก ชายวัย 52 ปี คนหนึ่ง ซึ่งเดินทางไปประชุมที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ช่วงกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และเริ่มมีไข้ รวมถึงมีอาการ “เจ็บคอ” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ก่อนจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนวันเดียวกัน จนพบว่าผลแล็บเป็นบวกสำหรับ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19)
สำหรับชายคนนี้ ทางการมาเลเซียระบุว่าเป็นผู้ป่วยหมายเลข 26 โดยมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับเขามากกว่า 16 คน อย่างไรก็ตาม นพ.นัวร์ ฮิแชม อับดุลลาห์ ผู้อำนวยการใหญ่ ประจำกระทรวงสาธารณสุข มาเลเซีย ระบุว่า การแพร่ระบาดของชายคนดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็น Super - Spreader เพราะมีผู้เกี่ยวข้องแค่ 16 คน ที่เกี่ยวข้องกับชายคนนี้ ต่างจาก Super - Spreader ในเกาหลีใต้ ซึ่งพาโรคโควิด-19 ติดต่อไปอีกหลายพันคน
เขายืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยหมายเลข 26 ได้ทั้งหมดแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ โดยไม่จำเป็นต้องปิดออฟฟิศ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิงของรัฐ และมีพนักงานจำนวนมาก
ทั้งนี้ หากชายคนดังกล่าวติดเชื้อจากเซี่ยงไฮ้จริง ก็หมายความว่าเชื้อฝังอยู่ในตัวเขานานกว่า 1 เดือนครึ่ง ก่อนจะแสดงอาการ และแพร่ต่อไปยังคนอื่นๆ รอบตัว
ขณะที่ อินเดีย ประเทศที่หยุดนิ่ง ไม่มีการระบาดของไวรัสโคโรน่ามานาน ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียนเช่นกัน โดยพบเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในนักท่องเที่ยว 15 คน ขณะเดินทางท่องเที่ยวทะเลทรายในแคว้นราชสถาน ส่งให้อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 28 คน โดยเริ่มมีการกันตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมถึง “คนขับรถ” ให้อยู่ภายใต้การกักกันโรคอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน อินเดียได้ออกมาตรการใหม่ โดยจะไม่อนุมัติวีซ่า สำหรับผู้ที่เดินทางจากอิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อป้องกันการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้แบนผู้ที่เดินทางจากจีน มาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ แล้ว
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ประกาศปรับตัวเลข “อัตราตาย” ของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 หลังมีการระบาดอย่างหนักเพิ่มเติมในประเทศอิหร่าน เกาหลีใต้ และในทวีปยุโรป เป็น 3.4% ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่า “ไข้หวัด” ตามฤดูกาล ซึ่งมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบประสิทธิภาพการติดต่อ และการระบาดระหว่างหวัดธรรมดา ทีโดรสบอกว่า หวัดธรรมดายังคงติดต่อได้ง่ายกว่า ข้อมูลจาก WHO ยังคงชี้ชัดว่า ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย จะไม่สามารถ “แพร่เชื้อ” ต่อได้ แย้งกับรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า มีการแพร่เชื้อต่อในผู้ที่มีเชื้อในร่างกาย แต่ไม่แสดงอาการ
โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบรุนแรงกว่า อาการป่วยหนักกว่าหวัดทั่วไปมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และไม่มีภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีวัคซีน หรือวิธีการรักษาโดยตรง มีเพียงแต่การรักษาตามอาการ
การปรับอัตราตายขึ้นเป็น 3.4% ทำให้โควิด-19 มีอัตราตายที่สูงกว่า Spanish Flu หรือ “ไข้หวัดสเปน” ซึ่งระบาดในช่วงปี 1918 - 1920 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้านคนทั่วโลก และมีอัตราตายประมาณ 2.5%
ทั้งหมดนี้ ทีโดรส ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น ในที่สุดจะสามารถ “ควบคุม” ได้ เพียงแต่ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ และชุดป้องกัน ทั้งหน้ากากอนามัย ถุงมือ โดยทีโดรสบอกว่าทั่วโลก ต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นราว 40% จึงจะ “เอาอยู่”
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก