เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวมีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว หลังจากเชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้หน้ากากอนามัยนั้นขาดแคลนแม้กระทั่งในโรงพยาบาล
หน้ากากอนามัยในช่วงเวลานี้นับว่าเป็นสิ่งที่หายากยิ่งกว่าขุดทองเสียอีก อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ทางด้าน นายแพทย์วรุตม์ พิสุทธินนทกุล หน่วยศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลน ว่า "มีคนบอกให้ใช้แมสผ้าผ่าตัด ขอบอกว่า แมสผ้ามันกันอัตรายที่อาจเกิดกับคนทำงานแบบนี้ไม่ได้ครับ ขณะนี้ แมส หมดโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ขอรับบริจาคแมสที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ครับ ขอบคุณมากๆเลยครับ"
ว่าด้วยเรื่องของหน้ากากอนามัยนั้น สำหรับหน้ากากอนามัยแบบผ้า บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอยู่กับ เลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ หน้ากากอนามัยแบบผ้าจึงไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ เนื่องจากไม่มีชั้นกรอง และซึมซับได้ดีเกินไป
ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัยในช่วงนี้เวลานี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ได้ส่งต่อความห่วงใยไปยังประชาชนพร้อมแนะนำทางเลือกในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ประชาชนทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้คนแออัด ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก แต่หากจำเป็นต้องเข้าไปในแหล่งชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น หรือใช้รถขนส่งสาธารณะร่วมกันเป็นจำนวนมาก สามารถป้องกันตนเองได้ด้วยการสวมหน้ากากผ้าที่สะอาดแทน ส่วนหน้ากากอนามัยเหมาะสำหรับใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม โดยข้อดีของหน้ากากผ้าที่แนะนำให้ใช้นอกจากจะช่วยป้องกันฝุ่นขนาดใหญ่ทั่วไปแล้ว ยังนำมาซักให้สะอาดแล้วใช้ซ้ำได้อีก ช่วยประหยัดงบประมาณในการหาซื้อหน้ากากอนามัยเนื่องจากสามารถเย็บใช้ได้เอง ช่วยลดปัญหาขาดแคลน และยังช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอีกด้วย
“ทั้งนี้ สำหรับการป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยนั้น หลักสำคัญต้องพิจารณาจากสถานการณ์ คือ 1.ตนเองไม่สบาย หรือ 2.แพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยโดยไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยนั้น ๆ จะสามารถแพร่เชื้อออกมาทางละอองฝอยจากการพูด ไอ จาม หรือไม่ และ 3.คนปกติที่ต้องเข้าไปในสถานการณ์ที่มีคนหนาแน่นโดยห่างกัน น้อยกว่า 1 เมตร โดยที่ไม่ทราบว่าคนที่ยืนอยู่ใกล้ชิดนั้นป่วยหรือไม่และสามารถจะแพร่เชื้อได้หรือไม่ ส่วนวิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ส่วนประชาชนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด ที่สำคัญต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนใส่และหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กรมอนามัย , Warut Pisudtinontakul