จากความหวั่นวิตก ถึงขั้นตอนการรักษาไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้แพร่ระบาดอยู่ ล่าสุดมีข่าวดีจากประเทศจีน ที่สามารถนำเอาวิธี "ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์" ได้สำเร็จแล้ว
สำนักข่าวอีจัน รายงาน ความสำเร็จของจีน ที่รักษาโควิด-19 ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ไว้ว่า " สื่อจีนรายงานคณะนักวิจัยของจีนกำลังศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีอาการหนักขั้นวิกฤต
ข้อมูลจาก สวีหนานผิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ระบุว่า ผู้ติดเชื้อ 4 ราย ซึ่งได้รับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ขณะมีอาการหนักขั้นวิกฤต หายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว และจะมีการทดลองทางคลินิกในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์เพิ่มเติม โดยสเต็มเซลล์สามารถเพิ่มจำนวนตัวเอง หรือแบ่งตัวอย่างไม่จำกัด พร้อมกับมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ของเลือด หัวใจ ปอด หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายมนุษย์
นอกจากนี้ สเต็มเซลล์ยังสามารถทำหน้าที่เกี่ยวกับการคัดหลั่งได้อย่างดีเยี่ยม ส่งเสริมการเกิดของหลอดเลือดใหม่ การเพิ่มจำนวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพไปทำหน้าที่ต่างๆ ของเซลล์ และการยับยั้งปฏิกิริยาการอักเสบ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จึงนำการบำบัดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ไปใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนบางชนิด โดยเคยลองใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 ซึ่งแสดงประสิทธิผลทางการรักษาที่ดี
กระทรวงฯ ระบุว่าด้วยว่า สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) พัฒนายาสเต็มเซลล์ตัวใหม่ชื่อ “แคสเต็ม” (CAStem) ซึ่งสัมฤทธิ์ผลเชิงบวกในการทดลองกับสัตว์ ทีมวิจัยจึงยื่นขอการประเมินเร่งด่วนจากสำนักงานบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติ (NMPA)
ปัจจุบันทีมวิจัยจากศูนย์การแพทย์แห่งที่ 5 ของโรงพยาบาลกลางกองทัพ ปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีน ร่วมกับโรงพยาบาลและสถาบันในนครอู่ฮั่นและนครเทียนจิน ทำการวิจัยทางคลินิกถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสเต็มเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (MSC) ในการรักษาผู้ติดเชื้อ
ด้าน ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยถงจี้ กำลังศึกษาการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในปอดมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถใช้เป็นวงกว้างในการควบคุมโรคระบาด โดยคาดว่าวิธีการรักษาดังกล่าวจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในอนาคตอันใกล้
จั่วเว่ย หัวหน้าทีมวิจัยและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการวิจัยสเต็มเซลล์ระดับชาติของจีน เปิดเผยว่า ขณะนี้การวิจัยมุ่งเป้าไปยังการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการหนักขั้นวิกฤตให้ดีขึ้นเป็นหลัก เมื่อผู้ติดเชื้ออยู่ในอาการหนักขั้นวิกฤต สาเหตุของอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือการเสียชีวิตคือ “พายุแห่งการอักเสบ” เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกภาวะติดเชื้อกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไปจนทำลายปอดและการหายใจ
การอักเสบและการบาดเจ็บของปอดเป็นจุดสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อปอดอาจหมายถึงความตาย เราคาดหวังว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์จะช่วยซ่อมแซมความเสียหายเหล่านั้น จั่วเว่ย กล่าว
ปัจจุบันมีการใช้สเต็มเซลล์ 3 ชนิด ได้แก่ สเต็มเซลล์เนื้อเยื้อเกี่ยวพัน (mesenchymal) สเต็มเซลล์ปอด และสเต็มเซลล์ตัวอ่อน (embryonic) ในการรักษาโรค โดยเหล่านักวิจัยมักจะฉีดผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์เข้าสู่ปอด สเต็มเซลล์สามารถพัฒนาภาวะแวดล้อมจุลภาคของภูมิคุ้มกันในปอดและลดความเสี่ยงภาวะปอดล้มเหลวจากการอักเสบ รวมถึงมีศักยภาพเพิ่มจำนวนตัวเอง แปรสภาพเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ และพัฒนาเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่คล้ายกันและถุงลมจนซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายได้
การใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้างยังคงต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องมีการพิสูจน์ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของยาหรือการรักษาแบบใหม่ด้วยการทดลองทางคลินิกที่เพียงพอ"
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก