จากกรณี นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ได้เปิดเผยว่า เดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 150 ตัน และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 180 ตัน รวมแล้ว 2 เดือน มีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยยืนยันว่ากรมศุลกากรให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดทางด้าน กรมการค้าภายใน ฟ้องโฆษก กรมศุลกากร เหตุเปิดเผย เรื่องส่งออกหน้ากากเป็นเรื่องเท็จ
วันนี้ 12 มี.ค. 63 หลังจากมีจดหมายข่าวเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ทางด้าน กรมการค้าภายในเตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด ทั้งผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งพอผ่านไปได้ไม่นานทาง กรมศุลกากร ได้ออกจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริงในการแถลงข่าวเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย ความว่า
“ในการแถลงข่าวกรมศุลกากรประจำเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงว่าข่าวในโซเชียลมีเดีย เรื่อง หน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกัก โดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้นนั้น ไม่เป็นความจริง และสื่อมวลชนได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับในประเด็นสถิติการนำเข้าส่งออก-หน้ากากอนามัยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการเขียนข่าวว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยเป็นจำนวน 330 ตัน"
"ในการนี้กรมศุลกากรขอชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขในช่วงเดือนมกราคมถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ"
"กรมศุลกากรได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยนับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก”
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมศุลกากร