วันนี้ (25 มี.ค.) เว็บไซด์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในคดี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องพร้อมความเห็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองไว้แล้วว่า

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ร้อง กล่าวอ้างว่าตนได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นติน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ้ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด โดยศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเป็นกรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายไพบูลย์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.832/2561 ต่อศาลอาญาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 มาตรา 116 มาตรา 117 มาตรา 209 มาตรา 210 มาตรา 215 และมาตรา 216 ยกเว้นความผิดอาญาอื่นตามมาตรา 362 มาตรา 364 มาตรา 365 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550 มาตรา 76 และมาตรา 152 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 211 วรรคสี่ และมาตรา 213


ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2557 และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2557 โดยทั้งสองคำสั่งปรากฏชื่อนายไพบูลย์เป็นผู้ถูกร้องที่ 33 และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัย ว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง และการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายโดยการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลในคดีดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดและผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ต่อรัฐบาลโดยเรียกร้องมุ่งหวังที่จะให้รัฐบาลลาออกเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาของประเทศก่อน หลังจากนั้น จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง จึงไม่มีมูลกรณีเข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองไว้แล้วว่า ไม่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลรัฐธรรมดังกล่าวจึงย่อมมีผลผูกพันคู่กรณี และผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ของการชุมนุม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 211 วรรคสี่ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เว็บไซด์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ