กระทรวงสาธารณสุขจะแยกข้อมูลการเฝ้าระวังเป็น 2 กลุ่ม ยกระดับสู้โควิด เตรียมมาตรการเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อ ถึงพื้นที่ใน กทม. โดยยึดหลัก ภูเก็ตโมเดล ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็นโซนสถานการณ์ เช่น Red Zone, orange Zone และ yellow zone
8 เม.ย.63 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระบุว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ทางกระทรวงสาธารณสุขจะแยกข้อมูลการเฝ้าระวังเป็น 2 กลุ่ม โดย
- กลุ่มแรก คือ คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คนไทย และชาวต่างชาติ ทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะต้องถูกกัก State quarantine 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังโรค หากมีไข้ อาการทางระบบหายใจ จะถูกกักตัวในโรงพยาบาล
- กลุ่มที่ 2 คือการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ โดยขณะนี้ภาพรวมของสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับทั้งในภูมิภาคและกรุงเทพฯ โดยการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น กลุ่มสนามมวย และสถาบันเทิงกระจายไปจังหวัดต่าง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้น้อยลง ประกอบกับมาตรการปิดสถานที่ของแต่ละจังหวัด และแต่ละจังหวัดมีมาตรการเฝ้าระวัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีระบบค้นหาผู้ที่เดินทางและขอให้มีการกักตัว 14 วัน ส่วนผู้ป่วยนำเข้าสู่ระบบการรักษา
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างระบบการค้นหาผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตที่ใช้ มาตรการค้นหาเชิงรุก “Active case finding” ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็นโซนสถานการณ์ เช่น Red Zone, orange Zone และ yellow zone เพื่อส่งทีมเจ้าหน้าลงพื้นที่เก็บตัวอย่างประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหรือเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ค้นพบผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการนี้จะนำมาใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะลงเก็บตัวอย่างประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ก็ตาม เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แฝงอยู่ในกรุงเทพฯ
นพ.สุวรรณชัย ชี้แจงกรณีที่ประชาชนตั้งคำถาม ถึงการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการทำไมไม่ตรวจให้ทุกคน โดยยืนยันว่า การตรวจในห้องปฏิบัติการไม่จำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม และไม่ต้องตรวจทุกคน แต่จะเน้นการตรวจหาเชื้อแบบเฉพาะจุด, เฉพาะสถานที่เสี่ยง ซึ่งจะทำแบบโมเดล จ.ภูเก็ต ที่ เป็นการค้นหาผู้ป่วยแบบเชิงรุก ยกตัวอย่าง วันนี้ที่มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 69 ราย จำนวนนี้ซึ่งเป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ที่ทำได้ตรงจุดมากขึ้น
ขณะนี้รัฐบาลได้จัดสถานที่สำหรับเฝ้าระวังสังเกตอาการผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ (State Quarantine) รวมทั้งหมด 1,883 ห้อง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563) แบ่งเป็น
สถานที่ที่หน่วยงานราชการจัดให้ 2 แห่ง จำนวน 136 ห้อง มีผู้เข้าพักรวม 358 คน ประกอบด้วย โรงเรียนการบินกำแพงแสนมี 36 ห้อง มีผู้เข้ากักตัว 75 คน อาคารรับรองสัตหีบมี 100 ห้อง มีผู้เข้ากักตัว 283 คน ขณะนี้ห้องพักเต็มทุกแห่ง ภาคของเอกชน มีห้องพร้อมรองรับรวม 1,747 ห้อง มีผู้เข้ากักตัวแล้ว 307 คน
โดยที่ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นวันที่ 5 ของการเฝ้าระวังสังเกตอาการ เป็นผู้ที่เดินทางกลับจาก 17 ประเทศ จำนวน 284 คน ในวันนี้ทุกคนสบายดี ไม่มีไข้ ส่วนผู้ที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันนี้ไม่มีไข้ อยู่ระหว่างการรอผลทางห้องปฏิบัติการ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Workpoint