คลัง ลั่นตรวจซ้ำคนได้เงิน 5,000 หากไม่เข้าเกณฑ์ ยึดเงินคืนใน 90 วัน หากคุณสมบัติไม่ตรง แจงขั้นตอนการตรวจสอบเข้ม แต่มีคนลงทะเบียนกว่า 24.8 ล้านคน
9 เม.ย. 63 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเยียวยาผลกระทบในช่วงโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือโดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อให้ระบบได้มีการตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดหรือไม่ จากนั้นผู้ที่ลงทะเบียนแล้วผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายในล็อตแรก 1.6 ล้านคน ภายในวันที่ 8-10 เมษายน 2563
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังประชาชนจำนวนหนึ่งยังคงสับสนเกี่ยวกับเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน โดยเกณฑ์หลักคือ ต้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งหากว่างงานแต่จ่ายประกันสังคม ประกันสังคมจะเป็นคนดูแล เกษตรกร ก็จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมจากนี้ หรืออย่างกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ พบว่ามาลงทะเบียน 2.1 ล้านคน ไม่ผ่านเกณฑ์เลยแม้แต่รายเดียว เนื่องจากรัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ แต่การค้าขายที่ไม่ดีมาจากผลกระทบเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาโควิด-19
นอกจากนี้ นายลวรณ ยังกล่าวถึงกลุ่มที่ได้รับเงินไปแล้วด้วยว่า จากที่ได้รับรายงานว่าหลังจากมีการแจกเงิน 5,000 บาท แล้วมีผู้ที่ไม่ควรจะได้รับสิทธิ์ แต่กลับได้รับสิทธิ์นั้น กระบวนการตรวจสอบก็จะเริ่มขึ้น โดยกระทรวงการคลังจะมีระบบตรวจทานซ้ำว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะมีการดำเนินการใน 2 ลักษณะ
- 1.ถ้าผู้ที่โพสต์ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับเงินจริง โพสต์เพื่อสร้างความสับสน แต่ท่านไม่ได้เป็นคนที่รับเงินแต่กลับโพสต์ว่าได้เงิน กรณีนี้จะประสานส่งเรื่องไปที่กระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม MDES พิจารณาดำเนินการว่าจะเข้าข่ายความผิดเรื่องอะไร
- 2.ถ้าสมมติว่าได้รับเงิน 5,000 แต่เป็นที่คลางแคลงว่าไม่สมควรจะได้แต่ทำไมได้ ทางกระทรวงมีระบบตรวจทานซ้ำว่าท่านอยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือถูกต้องหรือไม่ ท่านได้เพราะหลักเกณฑ์อะไร จะทบทวนดูว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้มันมีช่องโหว่ ช่องว่างตรงไหนหรือเปล่า และกลไกคือเรียกเงินคืนภายใน 90 วัน และระงับสิทธิ์ในเดือนที่ 2-3
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ แต่หากรับเงินไปแล้วแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ มีดังนี้
- ผู้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่ลงทะเบียนและได้รับเงิน 5,000 บาทไปแล้ว จะต้องคืนภายใน 90 วัน
- หากไม่ดำเนินการตามข้อตกลงก็จะตัดสิทธิ์ที่จะให้เงินชดเชยในเดือนถัดไปๆ (พ.ค.-มิ.ย.) ทันที
- กระทรวงการคลัง ส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
- หากไม่คืนเงิน 5,000 บาท รัฐอาจใช้สิทธิในการที่จะดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาต่อไป
- หากคืนเงิน 5,000 บาท ที่รับไปไม่มีความผิด
โดยยืนยันว่า ระบบคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ ไม่มีปัญหา สามารถคัดกรองผู้ที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจริง แต่ขอให้เข้าใจว่า เนื่องจากระยะเวลาในการเตรียมมาตรการมีน้อย ทำให้ไม่สามารถวางระบบตรวจสอบเข้มงวดได้ เพราะจะใช้เวลามาก ทำให้คนได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า
อย่างไรก็ตาม การโอนเงินในกลุ่มที่ไม่มีปัญหา จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งและทยอยโอนเงินเข้าบัญชีตามปกติ ในรายที่มีปัญหาเลขบัญชีไม่ตรงจะมีปุ่มหน้าเว็บไซต์ให้แก้ไขเลขบัญชี เพื่อให้โอนเงินเข้าได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์แน่นอนจะมีเอสเอ็มเอสแจ้ง และไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะผิดหลักเกณฑ์มาตรการ โดยธนาคารกรุงไทย จะเริ่มแจ้งผลในวันที่ 11-12 เม.ย.นี้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก อีจัน