คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทย หรือ กกร. ระบุคนไทยตกงาน 7 ล้านคน แนะรัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลเร่งด่วน
โดยทาง อีจัน ได้เผยว่า 9 เม.ย. 63 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยหลังประชุม ว่า
กกร.ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจากไวรัสโควิด-19 จะมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และจะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ที่คาดว่าเดือนมิถุนายน จะมีคนตกงานรวม 7 ล้านคน ในสายงาน
- ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และธุรกิจค้าปลีก จะตกงานรวมกัน 4.2 ล้านคน
- กิจการโรงแรม 970,000 คน
- ร้านอาหาร ภัตตาคาร 250,000 คน
- ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 200,000 คน
- ธุรกิจสิ่งทอ 200,000 คน
ในจำนวนนี้มีประมาณ 6 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากแรงงานทั้งระบบของประเทศมี 38 ล้านคน
และหากโควิด-19 ลากยาวเกินครึ่งปีนี้ ก็จะกระทบกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างรุนแรง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชน อาจทำให้เศรษฐกิจติดลบได้ลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือแรงงาน เช่น
1. พนักงานที่สมัครใจหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนที่ไม่มีสิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็ควรให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือ 50% ของเงินเดือน
2. รัฐบาลควรช่วยเหลือแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ยังควรได้รับเงินเดือน 75% แบ่งเป็นสำนักงานประกันสังคมจ่าย 50% นายจ้างจ่าย 25%
3. รัฐบาลควรให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยให้คิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อการจ้างงาน 4-8 ชั่วโมงต่อวัน จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน
4. มาตรการด้านผู้ประกอบการ รัฐบาลออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการจากรัฐบาล เพื่อให้พนักงานได้สิทธิ์รับเงินชดเชย ตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น)
5. ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และขอให้จัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น
6. มาตรการด้านการขนส่งแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง จึงขอเสนอให้มีการประกาศมาตรการจากส่วนกลาง เพื่อให้มีการปฏิบัติให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ เพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าได้ทั่วประเทศ
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวปิดท้ายเพิ่มเติมว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้ง 3 ระยะ ที่ครอบคลุมทุกด้าน แต่ยังห่วงว่า จะนำมาตรการไปปฏิบัติอย่างไร รัฐบาลจะต้องสื่อสารให้ชัดเจน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก อีจัน