หลายท่านยังคงมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK อย่างไม่ถูกต้อง บางรายอาจพบผลตรวจเชื้อผิดพลาดได้ ซึ่งก็มีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งที่เกิดจากตัวผู้ใช้เอง ชุดน้ำยาเกิดความเสื่อมสภาพเป็นต้น รวมถึงการนำชุดตรวจ ATK ที่ใช้ตรวจหาเชื้อจากน้ำลาย และโพรงจมูก ไปใช้ตรวจน้ำประปา

ซึ่งวันนี้ (5 ม.ค. 65 ) ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง หรือ หมอแล็บแพนด้าได้โพสต์ข้อความชี้แจง เรื่องที่มีชาวเน็ต ใช้ชุดตรวจ ATK ผิดประเภท โดยนำไปใช้ตรวจน้ำประปา ซึ่งผลที่ออกมาขึ้นเป็นสองขีด สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่ได้รับเรื่องราวนี้ และหวั่นว่าจะติดโควิดจากน้ำประปาเป็นจำนวนมาก

จากกรณีดังกล่าว หมอแล็บได้ให้ข้อมูลว่า "มีคลิปนึงกำลังสร้างความตระหนกตกใจอย่างมาก ในคลิปมีการเอาชุดตรวจ ATK ไปตรวจน้ำประปา แล้วปรากฏว่าขึ้นสองขีด ทำให้คนไม่กล้าใช้น้ำประปา เพราะคิดว่ามีเชื้อโควิดปนอยู่ในน้ำ

ผมเห็นคลิปนี้อยากจะฮ้องดัง ๆ ข้างในว่า โด่ดิดง ละดิโด๊ดิดง ละมันเต้นบ่ตรง ลงโทะ ลงทง เพราะเป็นการใช้ชุดตรวจแบบผิดประเภท มันถูกออกแบบให้ตรวจกับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกแล้วหยดตามด้วยบัฟเฟอร์ซึ่งเป็นน้ำใสๆที่เขาแถมมาในชุดตรวจนั่นแหละครับ ทุกชุดตรวจต้องมีแถมมา แต่ละยี่ห้อก็ห้ามใช้ข้ามกันไปมานะครับ เอาต่างยี่ห้อมาใช้แทนกันไม่ได้

ในต่างประเทศเค้ามีการทดสอบการตรวจ ATK ด้วยการเอาเครื่องดื่มตามท้องตลาดหลากหลายชนิดที่มีปริมาณเกลือและระดับ pH ต่างกันมาลองตรวจดู ปรากฏว่า ขึ้น 2 ขีด เค้าเรียกว่าเกิดผลบวกลวงหรือ “ผลบวกปลอม” เพราะพวกเครื่องดื่มมันไปเปลี่ยนแปลง pH หรือหักล้างฤทธิ์ของสารละลายบัฟเฟอร์

บัฟเฟอร์คือสารละลายที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงของ pH ประกอบด้วยกรดอ่อนหรือด่างร่วมกับเกลือชนิดหนึ่ง และสารประกอบอินทรีย์ขนาดเล็กที่เรียกว่าทริซีน (tricine) "บัฟเฟอร์จะเป็นตัวสร้างสภาพแวดล้อมที่ป้องกันไม่ให้แอนติบอดีจับกันยกเว้นเชื้อโควิดเท่านั้น

ดังนั้นถ้าเราตรวจ ATK แล้วไม่ใช้น้ำยาบัฟเฟอร์ของผู้ผลิต ไปเอาน้ำอย่างอื่นมาหยดแทน หรือทำให้บัฟเฟอร์มีการเปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนึ่ง การทำแบบนี้จะทำให้เกิดผลบวกปลอมได้ยังไงล่ะคร้าบ"

ขอบคุณ หมอแล็บแพนด้า