เป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างมาก เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพหอยแมลงภู่ริมหาดสมิหลา โผล่เต็มโขดหินบริเวณชายหาด ทำให้หลายคนถึงกับประหลาดใจ เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน บ้างก็เกรงว่าอาจเป็นสัญญาณบางอย่าง ที่บ่งบอกความผิดปกติของธรรมชาติหรือไม่
จากนั้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 ทาง เพจศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง ได้ออกมาชี้เเจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว หลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบแล้วว่า "เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่
จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Hongsanart Prachakittikul ได้โพสในเพจภาพสวยสงขลา ผลการตรวจสอบพบว่าเป็นการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ชนิด Perna viridis (Linnaeus, 1758) ขนาดเล็ก (ความยาวเปลือก 2.2 ซม. ความกว้างเปลือก 1.3 ซม.) อายุเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน พบยึดเกาะตามแนวโขดหิน ในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงช่วงเขตระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากร (หลังโรงแรมบีพีสมิหลาบีช) คิดเป็นพื้นที่การแพร่กระจายประมาณ 2,217 ตร.ม.
จากกรณีดังกล่าวเป็นการแพร่กระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งนี้หอยแมลงภู่บริเวณนี้มีการวางไข่ได้ตลอดปีแต่มีช่วงฤดูวางไข่ที่หนาแน่นอยู่ 2 ช่วง คือเดือนมีนาคม-เมษายน และตุลาคม-ธันวาคม
และหากพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหารพวกแพลงก์ตอนพืช/แพลงก์ตอนสัตว์ที่สมบูรณ์ คุณภาพน้ำและปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสม รวมถึงมีวัตถุที่เหมาะต่อการลงเกาะของตัวอ่อน ก็มีโอกาสพบการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ได้
ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ความเค็ม 31.16 พีพีที อุณหภูมิ 28.90 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 6.49 มิลลิกรัม/ลิตร ความเป็นกรด-ด่าง 9.02
สรุปว่า ปรากฎการณ์ที่พบหอยแมลงภู่ขนาดเล็ก ยึดเกาะตามโขดหิด กระจายไปหลายตารางเมตรนั้น เป็นการแพร่กระจายตามปกติ ตามฤดูกาล ของหอยแมลงภู่ ไม่ใช่ลางร้าย และหอยแมลงภู่ดังกล่าว เป็นตัวอ่อน ที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโต ไม่เหมาะที่จะเก็บมาบริโภค ใครที่เตรียมน้ำจิ้มซีฟู๊ดรอไว้ พับโครงการไปก่อนนะคะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
Hongsanart Prachakittikul และ ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง