จากเหตุน้ำมันดิบรั่ว และถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง บริเวณชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง ส่งผลให้ ประชาชนที่ทำมาหากินในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะ ทะเลระยองมีการปนเปื้อน และไม่สามารถจับสัตว์ทะเลได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ไม่กล้าซื้ออาหารทะเลมารับประทานในช่วงนี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ขาดรายได้
ต่อมา (5 กุมภาพันธ์ 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้จัดงานแถลง ระบุผลตรวจโลหะหนัก และสารเคมีในอาหารทะเลจากทุกแหล่งในระยองไม่เกินค่ามาตรฐาน
รวมถึงวางแผนติดตามตรวจทั้งอาหารทะเลและสุขภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้ต่อเนื่อง 2-3 ปี โดยนำอาหารทะเลจาก 4 แหล่ง คือ หาดสุชาดา หาดสวนสน หาดแม่รำพึง และปากน้ำระยอง มาปรุงอาหารรับประทานต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวว่า มีความปลอดภัยสามารถรับประทานได้
ดร.สาธิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนติดตามแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันได้เรียบร้อย จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก และต้องมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลมาตรฐาน รวมถึงคณะกรรมการติดตามความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น
ซึ่งต้องติดตามประเมินความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบต่อธรรมชาติทางทะเล พืชใต้น้ำ สัตว์ทะเล อาชีพประมงพื้นบ้าน ส่วนวันนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนระยองและนักท่องเที่ยวว่า อาหารทะเลระยองมีความปลอดภัย มั่นใจและบริโภคได้ โดยจากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลแต่ละชนิดจากแหล่งต่างๆ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อนที่มีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้คราบน้ำมันกว่า 500 คน โดยเก็บเลือดและปัสสาวะมาตรวจก่อนปฏิบัติภารกิจ และจะตรวจหลังจบภารกิจในช่วง 3 เดือน 1 ปี และ 3 ปีต่อไป
นพ.ศุภกิจ ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว ได้เก็บตัวอย่าง กุ้ง หอย ปลา ปลาหมึก หลากหลายชนิด จากหลายพื้นที่ เช่น หาดสุชาดา หาดแม่รำพึง สวนสน และตลาดสดบ้านเพ จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจหาสารโลหะหนักคือ ปรอท แคดเมียม และตะกั่ว ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ชลบุรี ไม่พบเกินค่ามาตรฐาน
ส่วนสารปนเปื้อนจากน้ำมัน PAHs ( Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ) ที่อาจก่อมะเร็ง ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ก็ไม่พบเช่นกัน และในการตรวจครั้งที่ 2 จำนวน 17 ตัวอย่าง สารโลหะหนักทั้ง 3 ตัวไม่เกินเกณฑ์ อยู่ระหว่างรอผลตรวจ PAHs ซึ่งจะรู้ผลในอีก 1-2 วันนี้ ได้วางแผนตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงกุมภาพันธ์จะตรวจทุกสัปดาห์ ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม จะตรวจทุก 2 สัปดาห์ และเฝ้าระวังต่อไปอีก 2-3 ปี ขอให้มั่นใจว่าวันนี้อาหารทะเลระยองปลอดภัย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก อีจัน และ สาธิต ปิตุเตชะ