เกิดเหตุเตือนภัยและ #สึนามิ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 เนื่องจากมี แผ่นดินไหว ใน หมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งห่างจาก ภูเก็ต เพียง 530 กิโลเมต ซึ่งเป็นความแรงขนาด 4.9 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร โดยเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 32 แล้ว

ครั้งแรกที่เกิด แผ่นดินไหว คือวันที่ 07 ก.ค. 65 ขนาด 4.8 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร ทางตอนเหนือของ หมู่เกาะสุมาตรา แนวชายฝั่งจังหวัดอาเจ็ะห์ ห่างจากจังหวัด ภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 480 กิโลเมตร และเกิดขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงวันนี้ ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน) อยากให้ประชาชนตื่นตัวแต่ไม่ตระหนก เฝ้าระวังเตือนภัยพร้อม ขออาสาสมัครรายงานเสียงหอสัญญาณเตือนภัย ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานฯ ที่ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิด แผ่นดินไหว ครั้งนี้ว่า "ตระหนัก แต่ไม่ตระหนกแผ่นดินไหว และสึนามิอันดามัน
ขณะเดียวกัน ทุ่นเตือนภัยในมหาสมุทรอินเดีย ทั้งของไทย (2 ทุ่น) และอินเดีย (5 ทุ่น) ใช้งานไม่ได้ ทำให้เกิดความตระหนก และกังวลเรื่องสึนามิชายฝั่งทะเลอันดามันเหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2547 ผมขอทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญดังนี้
1) แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิตามมาในระดับที่เป็นอันตรายต้องมีขนาดใหญ่ > 7.5 Mw
2) การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง (Foreshock) อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
3) แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดสึนามิทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก แนวรรอยเลื่อน และลักษณะการมุดตัว

4) แม้ว่าแผ่นดินไหวคาดการณ์ และเตือนภัยไม่ได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิได้
5) ระบบเตือนภัยสึนามิโดยใช้ทุ่นมักจะได้รับความเสียหายบ่อยครั้ง จึงไม่ใช่ทางออก
6) ระบบคาดการณ์ และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล จึงมีความจำเป็น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ใช้ระบบนี้เฝ้าระวัง (แต่เราเฝ้าระวังเฉพาะเวลาทำงาน 08.00-17.00) หากเกิดกลางคืน ตัวใครตัวมันน่ะครับ
7) ความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด กล่าวคือเมื่อรู้สึกว่าแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง แล้วท่านและครอบครัวที่รัก จะปลอดภัยครับ

ด้านเพจ ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน) ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน เพราะไม่อยากให้ตื่นตระหนก โดยระบุข้อมูลดังนี้
"แผ่นดินไหวไม่ใช่สึนามิ
ทุกๆครั้งที่มีข่าว แผ่นดินไหว ในทะเล ก็จะมีคำว่า #สึนามิ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งนี้ที่มีการบันทึกความสั่นสะเทือนตั้งแต่ระดับ 4.0 ขึ้นไป รวมได้ 28 ครั้ง (5/7/2022@13.30 – วงสีแดง)
แน่นอนว่า สึนามิ ทุกครั้งเกิดในทะเล แต่ไม่ใช่จะเกิดทุกครั้งหลัง แผ่นดินไหว ซึ่ง แผ่นดินไหว ที่จะทำให้เกิดสึนามิได้นั้น จะต้องประกอบด้วย 3 ประการคือ
1.) ความรุนแรงระดับ 6.5 ขึ้นไป*
2.) เกิดจากการงัด/มุดของแผ่นเปลือกโลก
3.) ความลึกสู่ผิวน้ำ
ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนอกชายฝั่งนิโคบาร์ช่วงสองวันนี้ (4-5 ก.ค. 2565) เป็นการเกิดในช่วงความรุนแรงที่ 4.0-5.6 ในโซนแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่แบบแนวระนาบ (ลูกศรสีน้ำเงิน) และความลึกที่ 10-250+ กม.

ดังนั้น สรุปได้ว่าแผ่นดินไหวชุดนี้ไม่อาจก่อให้เกิดสึนามิได้ แม้จะมีการเชื่อมโยงถึงแรงลมและระดับน้ำที่ท่วมล้นหาดทรายแก้วก็ตาม ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ที่บังเอิญมาพร้อมกัน ถ้าเป็นน้ำที่มาจากสึนามิจริง ก่อนน้ำล้นจะต้องลดก่อน
"#สึนามิ (เกือบ) ทุกครั้งเกิดจากแผ่นดินไหว แต่แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่เกิดสึนามิ"
*ความรุนแรงระดับ 6.5-7.5 สามารถก่อให้เกิดสึนามิได้ แต่ไม่รุนแรงขนาดสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน คงทำให้เกิดดินสไลด์หรือเรือดำน้ำวูบๆ แต่ระดับ 7.6-7.9 จะทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนได้อย่างมากโดยเฉพาะบริเวณใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ไกลออกไปอาจเห็นได้เพียงน้ำทะเลผิดปกติ แต่ระดับ 7.9 ขึ้นไป โดยเฉพาะระดับ 9.0 จะทำให้เกิดความวินาศไปในบริเวณกว้าง และอาจแถมด้วยอาฟเตอร์ช็อคระดับ 7.5+ ตามมาอีกหลายครั้ง



ขอบคุณ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และ
ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน)