วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567
SHARE

สายพลังงานประหยัดน้ำมัน

โพสต์โดย กระสุนปุยเมฆ เมื่อ 9 กรกฏาคม 2565 - 16:55

เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียล เมื่อมีสินค้าชิ้นหนึ่ง อ้างว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยลดการใช้น้ำมันในรถยนต์ได้ ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันไปได้เยอะ รวมถึงพบว่า มีดารารุ่นใหญ่ร่วมโปรโมตสินค้าชิ้นนี้ด้วย

โดย อ.เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาผ่านถึงสินค้าดังกล่าว ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า

"เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ

ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ก็มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริง ด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วตามด้วยการอ้าง ผู้ใช้ มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้น อย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)

1. อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น

- อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง "เหรียญควอนตัม" หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้

- อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่ว ๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)

- อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่ว ๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่ว ๆ ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมันหรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)

- จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา ผู้ใช้ มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ

2. จริง ๆ เรื่องพวกนี้ ก็มีการเตือนกันมานานแล้ว อย่างข่าวนี้ ตั้งแต่ปี 2552 (http://www.bt-50.com/topic.php?q_id=8515)

3. ในอดีตนานแล้ว (ปี พ.ศ. 2547) ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ชื่อว่า E-Plus (เสียดายว่าหารูปประกอบไม่เจอแล้ว) ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดโปงพิสูจน์ได้ภายหลังว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง

- เรื่องย่อ ๆ คือ ในปีนั้น มีการเปิดตัวอุปกรณ์ชื่อ อี – พลัส (E–PLUS) โดยหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ อย่าง วว. ซึ่งอ้างว่าเป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันได้ ด้วยฝีมือนักวิจัยคนไทย ทำให้มียอดจองกว่า 2 หมื่นเครื่อง ในเวลาเพียงเดือนเศษ

- แต่ไม่นาน คุณ กร ทัพพะรังสี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น ได้ออกมาสั่งเบรกการติดตั้งอุปกรณ์อี – พลัส ให้กับลูกค้า เพราะยังไม่มีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานกลาง

- พร้อมกันนั้น ประธานคณะกรรมการของ วว. ก็ออกมาแถลงว่า บอร์ด วว. พิจารณาแล้ว เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บอร์ดจึงให้มีมติให้กลับไปวิจัยทดสอบใหม่ และให้หยุดกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเอาไว้

- หลังจากนั้น ทางนิตยสาร "ฟอร์มูล่า" นิตยสารรถยนต์ชื่อดัง ได้นำอุปกรณ์ "อี-พลัส" มาทดสอบติดตั้งในรถยนต์ และวิ่งบนแท่นวัดกำลังเครื่อง หรือไดนาโม มิเตอร์ เพื่อวัดสมรรถนะว่าจะสามารถเพิ่มกำลังและแรงบิด ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่

- ผลทดสอบปรากฏว่า ทั้งกำลังและแรงบิด ไม่เพิ่มขึ้นเลย เมื่อเทียบกับก่อนการติดตั้ง ทำให้ที่อ้างว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยเพิ่มได้ถึง 5 % นั้น ไม่เป็นความจริง!

- แล้ว "ฟอร์มูล่า" ก็ทำการทดสอบหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ โดยวัดระยะทางที่รถวิ่งได้ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ทั้งแบบวิ่งบนถนนใช้งานจริง และวิ่งบนแท่นไดนาโมมิเตอร์ รวมกับคณะวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยรังสิต

- ผลการทดสอบ จากวิ่งบนถนนสภาพการใช้งานจริง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 2.9 %

- ผลการทดสอบบนไดนาโมมิเตอร์ เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 0.17 %

- จากการทดสอบทั้งเรื่องของการเพิ่มกำลัง และลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง จากการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน หรืออี-พลัส จึงฟันธง! ได้เลยว่า เป็นการโกหกระดับชาติกันเลยทีเดียว!!

- รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ในเวลานั้น จึงสั่งให้ระงับการผลิตและยุติการขาย ส่วน ผู้ว่าการ วว. ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

4. คำแนะนำสำหรับ #การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน จาก ปตท. ครับ (https://www.thansettakij.com/pr-news/general-news/520027)

1. ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน : การเหยียบเบรกกะทันหัน หรือบ่อยเกินความจำเป็น จะสิ้นเปลืองน้ำมันสูงถึง 40 % และยังส่งผลเสียต่อตัวเครื่องยนต์อีกด้วย

2. ขับรถด้วยความเร็วคงที่ ไม่ช้าเกินไป หรือเร็วมากเกิน : รักษาความเร็วให้คงที่ หรือใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอกัน 60 - 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้รถประหยัดน้ำมัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายบนท้องถนนด้วย

3. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามระยะทาง : การตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำตามคำแนะนำของศูนย์บริการ จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 3 - 9 % เลยทีเดียว

4. บรรทุกของเท่าที่จำเป็น : ยิ่งบรรทุกของมาก ยิ่งทำให้รถต้องใช้พละกำลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นไปด้วย ยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น

5. จัดของที่จะบรรทุก บนรถกระบะ : จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ก็ไม่ควรจะขับรถเร็ว ควรวิ่งชิดเลนซ้าย ใช้ความเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 80 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 15 – 20 % เลยทีเดียว"

ขอบคุณ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์



แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

บริการของเรา

Advertising

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Web Design

ออกแบบเว็บไซต์ ครบจบในที่เดียว ทั้ง FrontEnd และ BackEnd ด้วยทีมงานมืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 15 ปี

Web Application

ไม่ว่าจะธุรกิจใดให้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากรูปแบบเดิมๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Online

VDO Creator

บริการออกแบบ และ จัดทำ Presentation ShowCase Review สินค้า TVC หรือ Viral Clip

เราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy)
About Us | Advertising
Join With Us | Contact
Privacy Policy | Terms of Service
Corrections Policy | DMCA Copyrights Disclaimer
Ethics Policy | Fact-Checking Policy
Editorial team information | Ownership and Funding Info
ติดต่อลงโฆษณา: 0880-900-800, อีเมล์: ads@jarm.com
แนะนำติชม/ฝากข่าวประชาสัมพันธ์: info@jarm.com