จากกรณีที่มีการโต้เถียอย่างดุเดือน ในรายการ "โหนกระแส" ระหว่าง แพรรี่ ไพรวัลย์ กับ ทนายธรรมราช ปม พระชาตรี หลังเรียกแพรรี่ว่า อี แล้วแพรรี่ ออกมาตอบโต้ ซึ่งทนายธรรมราช มองว่าคำพูดของแพรรี่ ไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นพระชาตรี จึงได้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา

ล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ก.ย. 65 ที่ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ แพรรี่ เดินทางมาพร้อมกับ ทนายเกิดผล แก้วเกิด เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เพื่อให้สอบมารยาททนายธรรมราช

แพรรี่ กล่าวว่า ประเด็นการวิวาทะกับพระชาตรีจบแล้ว ได้เลิกแล้วต่อกันในการตอบโต้ แต่ทนายธรรมราช ได้เข้ามามีส่วนเรื่องนี้ มีการแจ้งความทำให้เรื่องไม่จบ และได้ไลฟ์สด พาดพิงแม้ว่าจะไม่เอ่ยชื่อ แต่คนที่ฟังก็รู้ว่าเป็นตน วันนี้จึงมาใช้สิทธิปกป้องตัวเอง ขอความเป็นธรรม ให้ตรวจสอบมารยาททนายความ อยากให้เป็นบทเรียน
สิ่งที่รับไม่ได้เลย คือการพาดพิง เพศสภาพ ตนมองว่าเรื่องเพศสภาพ เป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ทุกคนต้องเคารพ ไม่ควรเหยียดเพศ รู้สึกตนถูกหมิ่นศักดิ์ศรี เสื่อมเสียเกีรยติ ทนายความไม่ควรเป็นคนประเภทแบบนี้

แพรรี่ ไพรวัลย์ กล่าวอีกว่า ตนพูดอยู่เสมอว่าทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ ในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ไม่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ส่วนภิกษุณีปลาย เรื่องการไลฟ์สด ขายสบู่ ตนเพียงแค่ให้คำแนะนำด้วยความหวังดี ท่านไม่จำเป็นทำเรื่องพวกนี้ ก็มีคนพร้อมร่วมทำบุญช่วยเหลือ ตนคิดว่าการขอเสื่อมเสียน้อยกว่าขาย แต่ถ้าจะไลฟ์สด ขายสบู่ต่อก็เป็นสิทธิของท่าน

ทางด้าน ทนายเกิดผล เผยว่า หลังจากที่ตนโพสต์ให้ความเห็นทางกฎหมาย เรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทนายธรรมราชได้แชร์ต่อไปที่เพจตัวเอง พร้อมกับแคปชั่นในลักษณะว่า เพราะตนคิดแบบนี้ โรคไตเสื่อมถึงถามหา ซึ่งตนมองว่าไม่สมควร ที่เอาโรคไตเสื่อมระยะสุดท้าย ที่ตนป่วยอยู่นั้นมาโพสต์แบบนี้ พอนักข่าวสัมภาษณ์ ก็ยังไม่มีท่าทีสำนึก วันนี้จึงเดินมายื่นหนังสือให้สภาทนายความตรวจสอบว่า ผิดมารยาททนายหรือไม่

ขณะที่ ดร.วิเชียร เปิดเผยว่า สภาทนายความ มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมยืนยัน จะยึดมั่นในหลักกฎหมาย และความถูกต้อง ส่วนประเด็นร้องเรียนเรื่องมารยาททนายความนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน เพื่อตรวจสอบดูว่ากระทำผิดหรือไม่

ซึ่งจะมีคณะกรรมการมรรยาททนายความเป็นผู้ตรวจสอบและสอบสวน เพื่อพิจารณาบทลงโทษประกอบด้วย
1. ว่ากล่าวตักเตือน , 2. ภาคทัณฑ์ , 3. พักใบอนุญาตทนายความ 3 ปี และ 4. ถอดชื่อออกจากการเป็นทนายความ ส่วนการที่ทนายความให้ความเห็นทาง กฎหมาย ต่อสาธารณะสามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ถ้าหมิ่นต่อมารยาททนายความ ก็ต้องรับผิดชอบ

ขอบคุณ คมชัดลึก และ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์