พยากรณ์อากาศประจำวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 ระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันนี้ ถึง 06.00 น. ของวันพรุ่งนี้ เตือน 11 จังหวัดภาตใต้ตอนล่าง เตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ พร้อมระวังคลื่นสูง เรือขนาดเล็กควรงดออกจากฝั่งโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย
โดยคำพยากรณ์ทั้งหมด มีดังนี้
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (3 พฤษภาคม 2566) : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหล้วในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2566) อีก 1 วัน
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 3 - 6 พฤษภาคม 2566 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 พฤษภาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบบริเวณด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
สำหรับภาคใต้ในวันที่ 4 - 5 พฤษภาคม 2566 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 พฤษภาคม 2566 ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 3 - 7 พฤษภาคม 2566 ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 พฤษภาคม 2566 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ขอให้เดินควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (2 - 3 พฤษภาคม 2566): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และขนาด 2.1 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
อัพเดทภาพเคลื่อนไหว พยากรณ์ฝนทุกๆ 3 ชั่วโมง ลมผิวพื้น (สูงจากพื้นดิน 10 เมตร) ลมใกล้ผิวพื้นที่ระดับ 925hPa (สูงจากพื้นดินประมาณ 600 เมตร) และลมที่ระดับ 500hPa (สูงจากพื้นดินประมาณ 5.5 กิโลเมตร) จาก ECMWF init.2023050/12: 3-4 พฤษภาคม 2566
ไทยตอนบนกลางวันอากาศร้อน ลมตะวันตกกลับมาพัดปกคลุม อีกครั้ง ฝนฟ้าคะนองเริ่มน้อยลง แต่ยังเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ยังต้องเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่
ส่วนภาคใต้ 1-2 วันนี้ จะเริ่มมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต้องเพิ่มความระวังในการเดินเรือ
ช่วง 5-12 พฤษภาคม 2566 ลมจะเริ่มเปลี่ยนทิศทาง สภาพอากาศจะแปรปรวนอีกครั้ง และคาดว่า ช่วง 8-11 พฤษภาคม 2566 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวในบริเวณทะเลอันดามันและบริเวณทะเลจีนใต้ ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ต้องติดตาม สภาพอากาศก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน อากาศจะมีความแปรปรวนสูง
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา